*STYLE TYPE="text/css"> p {align=justify} BODY{cursor: url(http://ourworld.cs.com/dollielove6/uc4.cur);} a {cursor: url(http://ourworld.cs.com/dollielove6/uc4.cur);} */STYLE> Bakery Idea From me :): ตุลาคม 2005

Bakery Idea From me :)

วันพุธ, ตุลาคม 26, 2548

โดเรมอนเป็นการ์ตูนอันตราย ?

ได้มีโอกาสทราบข่าวจากหน้าเวบบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นพันทิพย์ เด็กดี หรือ เอ็มไทยก็ตาม
ว่าเร็วๆ นี้จะมีการแบนการ์ตูนที่รัฐบาลคิดว่าไม่เหมาะสมกับเยาวชนหลายๆ เล่มด้วยกัน

( สืบข่าว อ่านลงลึกไป จึงทราบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นี้เพราะว่า รายการฅนค้นคน ( เอ่อ..นานๆ ได้กดคีบอร์ด ฅ ฅนสักที ดีใจ ได้ใช้แป้นนี้เป็นครั้งแรก เย้ๆ ) เข้าเรื่องดีกว่า รายการฅนค้นคน อ่ะ..พิมพ์อีกรอบให้คุ้ม 5555



ได้มีการนำเสนอเรื่องราวของการ์ตูนที่วัยรุ่นนิยมอ่าน ซึ่งมีเนือ้หาไม่เหมาะสม อาจดูรายละเอียดได้จาก http://www.mcot.net/tltk/hot.php?news_id=353&newstype= http://www.dailynews.co.th/mapping.asp?strdate=20051018&newsid=69232&categoryid=11
http://www.dailynews.co.th/each.asp?newsid=68258
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A3819430/A3819430.html#25



โดยรายชื่อการ์ตูน มีดังนี้
ของสยาม

1.GANTZ
2.HEAT คนระห่ำองศาเดือด
3.ราชาเหมียว
4.Seraphic Feather
5.Zetman
6.Birth กำเนิดอสูร
7.อาจารย์!ว
8.ซันชิโร่ นักสืบตะลุยดะ
9.ยูโก บุรุษเหล็ก
10.Eden
11.Girls Bravo
12.I"s
13.เงาพยาบาท
14.โลกของเอสและเอ็ม
15.Dead space
16.สุภาพบุรุษทรชน

ของบงกช

1.รักนี้มีเพียงเรา
2.จังหวะร็อค
3.วิกฤติการณ์ซาตาน
4.ขอเป็นหนึ่งเดียว
5.มาเฟียที่รัก
6.กอดฉันหน่อยซิคะดาร์ลิ้ง
7.คุณหมาป่าที่รัก
8.กลเม็ดพิชิตชายในฝัน
9.บรรเลงรัก
10.กรงรัก
11.กฎเหล็กของหัวใจ
12.Get you
13.สุดหล่อขอเฮ้ว
14.พันธนาการรัก
15.เซ็กซี่บอดี้การ์ด
16.รักฤาเสน่หา
17.คัซซิโอะ
18.คลินิครัก
19.โซ่รักโซ่เสน่หา
20.จะรักเธอเสมอไป

ของวิบูลย์กิจกับ NED ยังไม่มีข้อมูล

Credit : www.iscanime.net
Credit : คุณ FAMAS




***************************************************************************




จนล่าสุด เมื่อวานนี้ ได้มีโอกาสเข้าไปอ่านกระทู้สืบเนื่อง http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A3833375/A3833375.html
ซึ่งมั่นใจกันว่าการที่ช่อง 9 ปรับผังการ์ตูนใหม่เป็นผลมาจากสาเหตุเดียวกับข้างต้น


จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “ โดเรมอนมันไม่ดีตรงไหนวะ ”

สำหรับเรา โดเรมอนเป็นการ์ตูนเรื่องแรกในชีวิตที่ทำให้เรานั่งโดยที่ไม่ต้องมีคนจับให้อยู่นิ่งๆ
เป็นการ์ตูนที่ทำให้เรากินข้าวหมดชาม เป็นการ์ตูนที่ทำให้เรายอมกินผักตอนเด็กๆ เพราะแม่บอกว่าถ้ากินผักหนึ่งคำ จะให้ดูโดเรมอนอีก 1 ตอน

โดเรมอนเป็นการ์ตูนที่มีความผูกพันเรื่อยมากับชีวิตของเรา จนถึงทุกวันนี้ มันก็เป็นการ์ตูนเรื่องเดียวที่แซะเราจากที่นอนได้ในเช้าวันเสาร์อาทิตย์...


โดเรมอนเป็นเสมือน “ ตัวแทนแห่งจินตนาการ” ของคนในวัยเด็ก เชื่อว่าผู้ใหญ่เกือบทุกคนก็ย่อมจะรู้จักเจ้าแมวสีฟ้า นี้เป็นอย่างดี

อะไรที่ทำให้โดเรมอนเป็นเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ( ไทม์ เคยสำรวจความเห็น พบว่า สิ่งที่ทำให้คนนึกถึงประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอับดับ 3 คือ โดเรมอน )
อะไรที่ทำให้ คนเราสามารถร้องหรือฮัมทำนองเพลงโดเรมอนได้
อะไรที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายภาษา หลายยุค หลายสำนักพิมพ์ออกสู่สายตาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี
แม้แต่... แฟนฉัน หนัง100 ล้าน ยังมีโครงเรื่องคล้ายโดเรมอน ตอน “นนจัง” เลย



โดเรมอนเป็นตัวแทนของสังคมวัยเด็กที่เชื่อว่า ทุกยุค ทุก สมัยน่าจะต้องพบกลุ่มคนเหล่านี้ คือ
เด็กเกเร ชอบรังแกเพื่อน ( ไจแอนท์)
เด็กเรียบร้อย เรียนเก่ง ( เดคิซูงิ )
เด็กอ่อนแอ เฉื่อยชา เรียนไม่เอาไหน ( โนบิตะ )
เด็กผู้หญิงน่ารัก เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเพื่อนๆ ( ชิซูกะ )
เด็กที่พร้อมด้วยฐานะ มักมีของใช้ เครื่องเล่นใหม่ๆ มาอวดเพื่อนเสมอ ( ซูเนโอะ)
และ
Hero ประจำสังคมนั้นๆ ซึ่งในเรื่องนี้ คือ โดเรมอน ผู้คอยช่วยเหลือผู้อ่อนแอ เช่น โนบิตะ


1.ผู้ชมการ์ตูนเรื่องนี้ย่อมมีส่วนร่วมไปกับตัวละครหลักๆ ได้ คนที่เรียนไม่เก่ง อาจมองว่าตนเองไม่ต่างอะไรกับโนบิตะ คนที่ร่ำรวยมักเข้าใจว่าตนเองเป็นซูเนโอะ คนที่แข็งแรงจะภูมิใจกับการใช้พละกำลังอย่างไจแอนท์

ซึ่ง ความมีส่วนร่วมไปกับตัวละครของผู้ชมนี้ มิได้ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตัวละครในแง่ไม่ดี เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ “ ใจร้าย” กับตัวละคร หรือกับสภาวการณ์ในเรื่องไปเสียทั้งหมด มีบวกลบ ขาวดำ ให้เรียนรู้ ดังจะเห็นได้ว่า
แม้โนบิตะจะขี้เกียจ แต่ก็มีจิตใจดี ซื่อตรง และขี้สงสาร
ไจแอนท์ชอบใช้กำลังรุนแรง แต่ก็เป็นพี่ชายที่รักน้องสาวมาก และไม่เคยย่อท้อต่อความฝันในการเป็นนักร้องของตัวเองเลย ( คำวิจารณ์นี้มาจากนักวิชาการทางด้านการ์ตูน Tao_oasis ที่เป็นผู้จุดประกายให้เราเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ให้เครดิตเขาหน่อย อิอิ)
ซูเนโอะ แม้จะรวย มีของเล่นทุกอย่างแต่ก็พบกับปัญหาที่ไม่สามารถบอกใครได้ เช่น การฉี่รดที่นอน หรือปัญหาเรื่องความสูงของตนเอง
ชิซูกะ เป็นเด็กผู้หญิงน่ารัก เรียนดี มักรักษาภาพพจน์ของตนเอง ชอบเล่นไวโอลินแต่ไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้ และความลับสุดยอดคือ อยากซัดมันเผากองโตๆ แต่ไม่กล้าทำ
ฯลฯ




2.ด้านวัฒนธรรม มีการสอดแทรกเรื่องราว ความเชื่อต่าง ๆของญี่ปุ่น ไว้ในเรื่องโดยไม่เป็นการ “ยัดเยียด” กล่าวคือ ผู้เขียนใช้วิธีดำเนินเรื่องไปแบบใหลลื่นเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ตอนที่ต้องการนำเสนอเป็นเรื่องเกี่ยวกับธงปลาคาร์ฟ ก็นำเสนอเรื่องให้สอดคล้องกลมกลืนจนผู้อ่านทราบได้ว่า แต่ละบ้านมีธงปลาคาร์ฟไว้เพื่อแสดงความหมาย ว่า ลูกชายจะเจริญเติบโตได้แข็งแรง ในบ้านที่ขัดสนอาจมีธงเพียงเล็กๆ ในตอนนั้น โนบิตะและโดเรมอนจึงนำเครื่องมือวิเศษออกมาทำปลาคาร์ฟเพื่อมอบให้แก่เด็กน้อยผู้น่าสงสารในเรื่อง นอกจากนี้ยังมีเทศกาลชมดอกไม้ ขนมดังโงะ วันโกหก การเข้าไปในนิทานพื้นบ้านเช่น สาวทอผ้า กับหนุ่มเลี้ยงวัว / อุราชิมา ทาโร่ / โมโมทาโร่ / รวมถึงการกล่าวคำว่า “ กินแล้วนะครับ / กลับมาแล้วครับ” ตามประเพณีชาวญี่ปุ่นอีกด้วย




3.ด้านภูมิประเทศ / ภูมิอากาศ บ่อยครั้งที่โดเรมอนต้องนำเครื่องมือวิเศษของตนออกมา เพราะสภาพภูมิประเทศในขณะนั้น เช่น แผ่นดินไหว ( ตอนเครื่องฝึกหลบภัย หรือ ตอนมาแผ่นดินไหวกันเถอะ) การเล่นสกี ( ทำให้รู้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีหิมะตก) เด็กๆ ที่ดูโดเรมอนไม่จำเป็นต้องท่องจำก็รู้ได้ว่าลักษณะทางภูมิประเทศ / ภูมิอากาศ เป็นอย่างไร หรือตอนเครื่องเพิ่มพื้นที่ ก็ทำให้รู้ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัดและราคาสูงมากจนโนบิตะต้องขอให้โดเรมอนนำของวิเศษออกมา





4.ด้านประวัติศาสตร์ โนบิตะมักได้รับแรงบันดาลใจมาจากซูเนโอะเสมอๆ เมื่อไรก็ตามที่ได้เห็นซากฟอสซิลที่ซูเนโอะได้มาด้วยราคาแพง ชุดเสื้อเกราะที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของซูเนโอะ และได้รับการเย้ยหยันจนทำให้โนบิตะต้องพลั้งปากออกไปว่าจะหาของที่ดีกว่ามาให้ดูจงได้
เราจะเห็นได้ว่า โดเรมอนมักจะต้องใช้ไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปในสมัยต่างๆ เพื่อช่วยเหลือโนบิตะ
เช่น สมัยเอโดะเพื่อหาบรรพบุรุษของโนบิตะ เมื่อหาไม่พบก็ไปอีกสมัยหนึ่ง เราจะพบได้ว่าการใช้ลูกเล่นดำเนินเรื่องไปเช่นนี้ จะทำให้สามารถจำสมัยประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ไม่ยากเลย หรือ การที่โดเรมอนช่วยโนบิตะหาไดโนเสาร์ การเข้าไปในยุคต่างๆ ยุคใดจึงจะมีไดโนเสาร์ เข้าไปในยุคก่อนประวัติจะสามารถพบไดโนเสาร์ได้หรือไม่ สมัยนั้นญี่ปุ่นเป็นเกาะหรือยัง เป็นต้น






5.ด้านศีลธรรม บ่อยครั้งที่โดเรมอนต้องหยิบของวิเศษออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้ผู้อ่านที่เป็นเด็กได้รู้จักการช่วยเหลือผู้ที่เดือนร้อนกว่า หรือการรู้จักความซื่อสัตย์ในตอนที่โนบิตะมีของวิเศษทำให้สอบได้คะแนนดี แต่ท้ายที่สุดก็เลือกที่จะทำตามความสามารถของตนเอง ไม่พึ่งเครื่องมือใดๆ จากโดเรมอน หรือความกล้าหาญที่สอดแทรกในตัวละคร แม้ตัวละครในเรื่องอาจจะมีทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างแต่เมื่อถึงยามคับขันจะพบว่า ต่างก็มีความสามัคคี กล้าหาญที่จะฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันไปได้ การแก้แค้น การได้รับผลกรรม เมื่อโนบิตะทำน้ำราดใส่มด ทำให้มดตายเป็นจำนวนมาก และมดที่เหลือถูกน้ำยาแทนคุณ จึงมาแก้แค้นคนที่ทำ ส่วนคนที่กระทำความดี ช่วยเหลือสัตว์ สัตว์เหล่านั้นก็มาทดแทนคุณ
เรื่องความไม่โลภ ในตอนที่มีคนตัดฟืนมหาขวานไม่เจอแต่ด้วยความซื่อสัตย์ จึงได้รับขวานทองให้เป็นการตอบแทน






6.ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เครื่องมือของโดเรมอนเกือบทุกชนิดสามารถใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายลักษณะการทำงานอย่างง่ายๆ แก่เด็กได้ รวมถึงส่วนประกอบ ที่มา ความชอบกินแป้งทอดโดรายากิด้วย ก็เพราะเป็นที่มาของแป้ง ให้คุณค่าสารอาหารทางพลังงาน หุ่นยนต์จึงสามารถใช้ได้โดยตรง การเกิดสุริยคราส ที่โนบิตะไม่เข้าใจ โดราเอมอนจึงนำสารานุกรมในโลกอนาคตมาอธิบาย ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ไปด้วย การท่องไปในอวกาศด้วยการวาร์พ เรื่องการเติบโตของต้นไม้ นอกจากนี้ ยังแฝงข้อคิดเอาไว้อย่างน่าสนใจ จะพบได้หลายตอน ที่ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ พยายามจะบอกว่าการที่มนุษย์เราพึ่งเครื่องมืออำนวยความสะดวกมากจนเกินไป อาจนำวิกฤติต่างๆ มาสู่โลกได้







7.ด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ชัดเจนว่าโดเรมอนในเรื่องยาวทั้ง 24 เรื่องนั้น จะมีการดำเนินเรื่องในลักษณะ “พิทักษ์โลก” อยู่กว่าครึ่ง การที่ต้นไม้โกรธแค้นจึงต้องการยึดครองโลกแทนมนุษย์ เหล่าโดเรมอนและผองเพื่อนจึงต้องปฏิบัติภารกิจบางอย่างเพื่อช่วยเหลือโลกเอาไว้ การที่พ่อของโนบิตะเล่าว่าสมัยก่อนมีจิ้งหรีดอยู่เต็มสวนหลังบ้าน แต่ตอนนี้อากาศเปลี่ยนไป การที่พ่อของโนบิตะบอกว่าในท่อน้ำเก่าๆ เคยเป็นคลองที่สามารถจับปลาขึ้นมาได้ด้วยมือ การที่ภูเขาหลังโรงเรียนจะถูกใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง การที่โนบิตะหาดอกไม้แล้วแม่ได้บอกว่าจะไปหาได้จากที่ไหน แม่ก็บอกว่าไปหาที่ภูเขาหลังโรงเรียนแต่โนบิตะก็หาดอกไม้ได้ไม่ครบเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ควรรักษาได้เป็นอย่างดี







8.ด้านจินตนาการ ตอนต่างๆ ของโดเรมอนได้สร้างความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้รับสารอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือวิเศษ การได้ผจญภัยในดินแดนจากโลกอนาคต นิทานปรัมปรา นิทานอิสป หรือดินแดนในฝันที่บรรดาโนบิตะและเพื่อนได้ไปเยี่ยมเยือน การแก้สถานการณ์คับขันต่างๆ ด้วยการใช้เครื่องมือวิเศษที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม







9.ด้านอารมณ์ โดเรมอนเป็นการ์ตูนที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์หลายหลากมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ จะจบด้วยความสุข ไม่ว่าจะเป็นตอนสั้นหรือตอนยาวก็ตาม เชื่อว่าทุกท่านที่เคยอ่านโดเรมอน คงจะพบได้เช่นกันว่า บางตอนก็สร้างอารมณ์ได้ซึ้งกินใจ เช่น ตอนคุณยายของโนบิตะ ( ตุ้กตาล้มลุกตัวนั้น) เด็กผู้หญิงที่ชื่อนนจัง คืนวันก่อนแต่งงานของโนบิตะ
หรือตอนที่จบด้วยอารมณ์ขัน เช่น ไจแอนท์สตู ที่นำผงชูรสวิเศษมาโรยถูกตัวตนเองด้วยความไม่รู้ ทำให้เพื่อนๆ อยากกินไจแอนท์ แทนอาหาร เป็นต้น



**********************************************************************
จากแง่คิดต่างๆ เหล่านี้ ( เท่าที่เราจะนึกออก ) ทำให้เราคิดไม่ตกจริงๆ ว่า การ์ตูนเรื่องนี้มีพิษภัยตรงส่วนใด

รวบของเก่ามารวมในบลอค

ทั้งๆ ที่ เป็นที่เห็นกันอยู่ว่าหัวข้อข้างล่างก็ยังไม่เสร็จดี

แต่ด้วยอารมณ์ใดมิทราบได้... ( นิสัยเสียนั่นเอง ) วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมา ดุ๊นเกิดอยากรวบรวมบรรดาคำบ่นทั้งหลายที่เคยเขียนลงเวบบอร์ดต่างๆ
( แหม ทำยังกะเขียนไว้เยอะสะงั้นอ่ะ ) นำมาแปะๆ ลงในนี้ดีกว่า เพราะว่าก็นึกเสียดายอยู่
ไหนๆ.. มันก็เคยออกมาจากความคิดเรา เวลาว่างมานั่งอ่านก็เพลินไปอีกแบบ

เอาหนังเบาๆ มาวิเคราะห์ให้ลองอ่านดูนะคะ สำหรับการวิเคราะห์จะขอท้าวความถึงภาพแรกก่อนพอสังเขปเพื่อความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ในบางช่วงของหนังอาจมีการลงทฤษฏีบ้างตามหลักนิเทด ยังไงก็..อ่านแบบขำ ขำ ละกันนะ
*****************************************************************************



ข้อมูลภาพยนตร์ : Legally Blonde
ชื่อไทย : สาวบลอนด์ หัวใจดี๊ด๊า
เรทภาพยนตร์ : PG-13
ความยาว : 96 นาที
ประเภท : comedy
กำกับโดย : Robert Luketic
บท : Amanda Brown / Karen McCullah Lutz / Kirsten Smith
นำแสดงโดย: Reese Wintherspoon / Luke Wilson / Selma Blair / Matthew Davis / Victor Garber
จัดจำหน่าย : ทเวนตี เซนจูรี่ ฟอกซ์ USA

เนื้อเรื่องโดยย่อ Legally Blonde ( 1 )
แอลล์ วู้ดส์ หญิงสาวผู้มีสีผมบลอนด์เป็นธรรมชาติเป็นลักษณะตัวที่โดดเด่น เป็นเจ้าของตำแหน่งประธานชมรมผุ้หญิง มิสฮาวายเอี้ยน มิสจูน นักเรียนดีเด่นของมหาวิทยาลัย UCLA และเป็นผุ้คลั่นใคล้สีชมพูเป็นชีวิตจิตใจ แอลล์เป็นสาวมากความมั่นใจและเกาะติดแฟชั่น แต่เธอต้องพบกับความผิดหวังเมื่อแฟนหนุ่ม วอเนอร์บอกปฏิเสธ โดยให้เหตผลว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงที่คู่ควรพอแก่อาชีพนักการเมืองของเขาในอนาคต

ด้วยเหตนี้เอง ทำให้แอลล์ มุมานะเข้ามาเรียนที่ฮาร์วาร์ด ลอร์ สคูล ที่เดียวกับแฟนหนุ่มโดยหวังให้เขาหันมาเห็นค่าและกลับมาเหมือนเดิม แอลล์ต้องพบกับความแตกต่างในการดำรงชีวิต รวมถึงถูกดูแคลนจากคนรอบข้างในเรื่องของการเรียน ในที่สุดเธอก็สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ด้วยการเป็นนักเรียนดีเด่นของชั้น ได้รับเลือกเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สำนักงานทนายความยักษ์ใหญ่ซึ่งใครๆ ก็ปรารถนา และสามารถเอาชนะคดีประวัติศาสตร์ได้ด้วยความสามารถของเธอเอง วอเนอร์เริ่มกลับมาขอคืนดีแต่แอลล์ก็พบแล้วว่ามีใครบางคนคุ่ควรกับเธอมากกว่าชายคนนี้ เขาเป็นนักศึกษารุ่นพี่ผู้ซึ่งเป็นกำลังใจและมีศรัทธาในตัวเธอตลอดมา

---------------------------------------------------------------------


ข้อมูลภาพยนตร์ : Legally Blonde (2)
ชื่อไทย : สาวบลอนด์ หัวใจดี๊ด๊า (2)
เรทภาพยนตร์ : PG-13
ความยาว : 95 นาที
ประเภท : comedy
กำกับโดย : Charles Herman-Wurmfeld
บท : Amanda Brown / Eve Ahlert / Dennis Drake / Kate Kondell
นำแสดงโดย: Reese Wintherspoon / Luke Wilson / Sall Field / Regina King / Jennifer Coolidge / Bruce Mcgill / Dana Lvey
จัดจำหน่าย : ทเวนตี เซนจูรี่ ฟอกซ์ USA

เนื้อเรื่องโดยย่อ Legally Blonde ( 2 )
หลังจากจบฮาร์วาร์ด สคูล มาได้ แอลล์ plan การแต่งงานไว้เรียบร้อยแล้วแต่ แอลเกิดไอเดียอยากให้ครอบครัวของบรุยเซอร์ สุนัขแสนรักได้มาร่วมในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วย จึงเริ่มจ้างนักสืบตามหาแม่ของสุนัขเธอว่าอยุ่ที่ไหน เมื่อรุ้ว่าแม่ของบรุยเซอร์ถูกขังไว้เพื่อใช้ทดลองในห้องวิทยาศาสตร์ของบริษัทผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์หนึ่ง เธอจึงลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านี้ แต่ผลของการต่อสู้คือการถูกไล่ออกจากงาน แต่แอลก็ยังเดินหน้าที่จะต่อสู้ต่อไป เมื่อพบว่าทางเดียวที่จะช่วยเหลือสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านี้ได้ คือการเสนอร่างอนุมัติกฎหมาย แอลล์จึงทุ่มเวลาและศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะช่วยสัตว์เลี้ยง แต่แอลล์ก็ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำสบประมาทจากเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่การเข้าถึงบุคคลสำคัญผุ้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการอนุมัติกฏหมายที่แสนจะยากเย็น

กระนั้น แอลล์ก็ใช้ความถนัดส่วนตัว ความมีน้ำใจ และช่างสังเกตุ ทำให้เกิดประโยชน์ในงานของเธอได้ ในที่สุดร่างกฎหมายเพื่อสัตว์ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นผลสำเร็จ


ลักษณะของภาพยนตร์เรื่องนี้ ( วิเคราะห์ในแนวรวมทั้ง 2 ภาค) เป็นหนังแนวตลก เน้นกลุ่ม target audience วัยรุ่น(โดยเฉพาะผู้หญิง) อายุระหว่าง 18-25 ปี สิ่งที่สังเกตได้ว่าเป็นภาพยนตร์เน้นกลุ่มไปทางเพศหญิง ด้วยลักษณะ 3 ประการดังนี้


1. ดารานำ (แอลล์) บทที่เขียนจะสังเกตได้ว่าดารานำฝ่ายหญิงเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักทั้งหมด

2. วิถีชีวิต (Life style) ของนักแสดงนำเป็นไปตามวิถีของวัยรุ่นปัจจุบัน หากวิเคราะห์ตามสังคมเมือง ( เมื่อเปรียบเทียบความสอดคล้องของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ) จะได้คร่าวๆ ดังนี้ คือ

2.1 เป็นวัยรุ่นที่เกาะติดแฟชั่น แต่งตัว อ่านหนังสือบันเทิง เช่น Cosmo และอาจมีแบรนด์หรือวงดนตรีที่คลั่งใคล้ จนรวมกลุ่มกันเป็นแฟนคลับ
2.2 เป็นวัยที่ให้ความสนใจในเรื่องของความรัก
2.3 มีการแข่งขันกันในด้านการเรียน ให้ความสนใจกับมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศจนกลายเป็นค่านิยม
2.4 อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ


3. สีชมพูที่ถูกเลือกใช้เป็นสีของตัวแสดงนำในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ รถ เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสีตัวแทนของความเป็นผู้หญิง ความร่าเริงสดใส

4. เนื้อเรื่องโดยรวม เป็นเรื่องที่เริ่มต้นเกี่ยวกับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จนตัวละครเรียนจบและเริ่มประกอบอาชีพ


จุด contrast ของเรื่อง (ภาค 2)

1. ปมความขัดแย้งของตัวละครกับอาชีพ
โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่าเป็นประเด็นที่โดดเด่นที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากวิถีประชา ค่านิยมและการตีค่าของคนในสังคม (sterotype) มักมองว่าวงการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการ นักวิชาการกฎหมาย ทนาย ฯลฯ ที่น่าเชื่อถือ จะต้องแต่งกายสุภาพ สีที่นิยมมักเป็นสีเข้ม เรียบ ดูน่าเชื่อถือ รวมถึงบุคลิกภาพที่มีการวางตัวแบบทางการ สงวนท่าที แต่ตัวละคร

1.1 แอลล์ ในเรื่องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากนี้ทั้งหมด กล่าวคือ แต่งตัวด้วยสีสันฉูดฉาด บุคลิกร่าเริงคล่องแคล่ว (อุ้มหมาแสดงความอาโนเนะอีก 1 ตัว) และแสดงความเป็นกันเองอย่างจริงใจกับบุคคลทุกชนชั้นโดยไม่สงวนท่าที จะเห็นชัดได้จากภาค 2 ที่แอลล์ไปทักทายแลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูจนทำให้แอลล์ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงมามากมาย
1.2 Ms Hauser ประธานกรรมาธิการในที่ประชุม ในเรื่องแสดงให้เห็นถึงการสงวนท่าทีที่เคร่งขรึม และเข้าถึงจิตใจได้ยาก แต่ลึกๆ แล้วคลั่งใคล้น้ำหอมดอกกุหลาบเหลือง เธอเป็นสาวกเดลต้านูตัวยงเช่นเดียวกับแอลล์ โดยที่แอลล์สามารถสังเกตได้ถูกจุด ทำให้สามารถใช้ “ความเหมือน” จุดนี้เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย
1.3 สแตนฟอร์ด มาร์ท โฆษกอนุรักษ์นิยม โฆษกเอ็นอาร์เอ เมื่อสุนัขพันธุ์ลอคไวเลอร์ของเขากับเจ้าชิวาวาของแอลล์ผสมพันธุ์กันขณะอยู่ที่สปาสัตว์เลี้ยง จึงเป็นจุดความเหมือนในเรื่องของคนรักหมาให้แอลล์ได้ทำความรุ้จักสนิทสนม และมีโอกาสพูดเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น
_________________

จุด Climax ของเรื่อง (ภาค 2)
1. เป็นฉากที่แอลล์ ตัวนำของเรื่องผิดหวังกับระบบการเสนอร่างกฏหมาย ความเชื่อมั่นในเพื่อนแต่กลับถูกหักหลัง แอลล์พูดด้วยความผิดหวังกับรูปปั้น อับราฮัม ลินคอร์น ว่า “ ชั้นเชื่อมั่นในประเทศชาติ เชื่อมั่นในระบบ เชื่อมั่นในตนเอง ” แต่ในขณะเดียวกันผู้กำกับตั้งใจ fade ภาพและเสียงให้ตรงข้ามกับคำพูดของเด็กนักเรียนสวนเข้ามา ที่ท่องประโยคว่า “ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ” ซึ่งเป็นจุดให้ผู้ชมคิดเอาเองในลักษณะที่ว่า ภายใต้ระบบการเรียนการสอนที่ถูกท่องมาดังนั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้ามในความรู้สึกของนางเอกในเรื่อง

สัญลักษณ์ของเรื่อง
1. รูปปั้นอับราฮัม ลินคอร์น แสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำ ความเป็นคนธรรมดาก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีโดยที่ไม่มีสายเลือดนักการเมือง หรือลูกผุ้ดีมีเงิน แต่ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่อเมริกาได้มากมาย
2. ดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับแสงไป โดยมีตึกทำเนียบขาวบังเป็นเงาอยู่ ดวงอาทิตย์ในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ เข้าใจว่าจากเนื้อเรื่องต้องการสื่อให้หมายความถึง พลังที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์เปรียบได้กับเสียงของประชาชน แต่กำลังจะลาลับไปโดยมีสิ่งอื่นเข้ามาเบียดบัง
_________________


คติที่ได้จากเรื่อง
เมื่อเทียบภาพยนตร์นี้กับหลักทฤษฎีการสื่อสารทางวาทวิทยา อันหมายรวมถึง (อวจนภาษา วจนภาษา และจิตวิทยาระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร) แล้ว สามารถนำมาพิเคราะห์ได้ ดังนี้

(ผู้เขียนขอกล่าวปูพื้นถึงหลักวาทศิลป์สักเล็กน้อยก่อน)
วาทศิลป์ที่มีหลักเกณฑ์ (System) ถึงกำเนิดขึ้นครั้งแรกพร้อมกับคอแรกซ์ (Corax) และทีเซียส (Tisias) ครูและลูกศิษย์ชาวซิซิเลียน ซึ่งเป็นผุ้เริ่มจัดกฎเกณฑ์ให้กับวาทศิลป์ ( เดิมวาทศิลป์เกิดขึ้นมานานแล้วแต่ยังไม่มีใครจัดเกณฑฺในการพูดแบบชัดเจน และหากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์สภาพการเมืองในสมัยนั้นเอื้อกับการใช้วาทศิลป์ด้วยซิซิลี (อิตาลีปัจจุบัน) ถูกปกครองด้วยทรราชย์อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อทรราชย์ถูกขับไล่ไป ซิซิลีก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย ผู้คนทั้งหลายที่ถูกทรราชย์รีบทรัพย์สมบัติไปต่างก็แสดงตนออกมาพูดขอสมบัติคืน เพราฉะนั้นการใช้วาทศิลป์จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก) คอแรกซ์ได้เริ่มสอนและจัดระบบวาทศิลป์จากการพูดในศาล และต่อมาสามารถประยุกต์ใช้กับการพูดทั่วไปตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วย โดยหลักสำคัญของวาทศิลป์ที่คอแรกซ์วางไว้ มี 3 อย่าง คือ
1. คอแรกซ์ได้ให้คำจำกัดความ Rhetoric วาทศิลป์ว่าเป็น ศิลปะแห่งการโน้มน้าวใจคน ดังนั้นหากมองจากคำจำกัดความนี้ วาทศิลป์จึงเป็นศาสตร์ที่มุ่งในทางปฏิบัติ (Pratical Art) คือมุ่งที่จะได้รับปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้ฟัง ปฏิกริยาดังกล่าวตรงกับจุดประสงค์ของผู้พูด
2. คอแรกซ์ เน้นการจัดระเบียบเรียบเรียงวาทะ โดยแบ่งวาทะเพื่อการโน้มน้าวใจออกเป็น 5 ส่วน คือ

2.1 บทนำ
2.2 ตัวเรื่อง
2.3 ข้อโต้แย้ง
2.4 จุดสังเกตย่อย (ข้อเท็จจริงที่เอาไว้เถียง)
2.5 บทปิดท้าย

3.คอแรกซ์แสดงให้เห็นว่า จะใช้หลักความเป็นไปได้ (Probability) ในการพูดโน้มน้าวใจอย่างไรให้เชื่อ
ขอยกตัวอย่างประกอบจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ( ในภาคแรก) จะเห็นได้ชัดจากฉากการซักพยานของแอลล์

- แอลล์เริ่มด้วยการใช้ข้อ 1 ข้างต้น แอลล์เริ่มว่าความตามที่เธอจดไว้ แล้วต่อด้วยการอารัมภบทให้คนสนใจฟังก่อน ( แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเธอไร้สาระ และเริ่มบทบาททนายแบบไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวสักเท่าไร แต่นั่นก็เป็นวิธีและเสน่ห์อย่างหนึ่งให้คนสนใจก่อนอันดับแรก) ต่อด้วยข้อ 2แอลล์เริ่มเข้าสู่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถามพยานคนสำคัญ ซึ่งคือลูกสาวของมหาเศรษฐีผู้ตาย (บทนำ) แล้วพาเข้าสู่จุดสนใจในเรื่องการทำผม การซักถามเรื่องผมว่าทำมานานหรือยังดัดมาตั้งแต่เมื่อไร ตอนที่เห็นพ่อตายอยู่ในสภาพไหน เห็นใครบ้าง ( ตัวเรื่อง) ต่อมาแอลล์เริ่มนำไปสู่การถามแบบแย้ง ว่าผมที่ดัดของหล่อนดัดมามากครั้งขนาดนั้น จะไม่รู้เลยหรืออย่างไรว่าต้องดูแลรักษาไม่ให้น้ำยาเสื่อมสภาพเช่นไร ในเมื่อพยานให้การว่าขณะพ่อถูกยิงกำลังสระผมอยู่ คนดัดผมมาใหม่ๆ จะไม่สระผมแน่ๆ ไม่งั้นน้ำยาเสื่อมสภาพ และดัดมาเป็นสิบๆ ปี จะไม่รู้กฎข้อนี้หรือ? ( ข้อโต้แย้ง) แอลล์เริ่มดึงเกมส์ให้จบด้วยการชี้ให้ทุกคนในศาลเห็นจุดสังเกตย่อย (ข้อเท็จจริง) ว่า ให้ดูที่ผมของหล่อนสิ ยังเป็นลอนมิได้เสียหายจากการสระผมแต่อย่างใด และไปที่บทปิดท้ายโดยการพูดสรุปว่า แสดงว่าหล่อนให้การเท็จ

จากตัวอย่างข้างต้น แอลล์ได้ใช้หลักความเป็นไปได้ตามหลักของคอแรกซ์เป้ะๆ โดยใช้ข้อมูลที่ตนเองรู้ดี ในเรื่องของแฟชั่นชักพาให้คนทั้งศาลเชื่อถือเธอได้ไม่ยาก


และเมื่อพิเคราะห์ถึงภาพยนตร์ ภาคที่ 2 ก็จะเห็นการใช้หลักการสื่อสารอีกเช่นกัน ขอยกตัวอย่างดังนี้

อริสโตเติล ได้ชื่อว่าเป็นบิดาทางวาทวิทยา โดยมีงานเขียนชิ้นสำคัญ คือ The Rhetoric of Aristotle
หนังสือ The Rhetoric ของอริสโตเติล ได้ให้คำจำกัดความของวาทศิลป์ว่า “ เป็นอำนาจที่จะค้นพบวิธีการต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อใช้ในการโน้วน้าวใจคนในแต่ละกรณี โดยเหตุที่วาทะมีจุดมุ่งหมายที่จะจูงใจคน เพราะฉะนั้นผู้พูดหรือผู้เขียนจะต้องรู้จักจิตใจ ความรู้สำนึกของคนที่เขาจะชักจูง นั้นหมายความว่าเขาจะต้องรู้จักธรรมชาติของมนุษย์ วิธีที่มนุษย์ใช้เหตุผล นิสัย ความต้องการ อารมณ์ จะต้องใช้ข้อโต้แย้งแบบไหนกับคนประเภทใด ”

ในที่นี้ จะเห็นได้ชัดจากเรื่องของหลักการเข้าถึงบุคคลต่างๆ ที่แอลล์ใช้ คือ


1.สแตนฟอร์ด มาร์ท แอลล์เข้าถึงด้วยการเรียนรู้ว่าเขารักสัตว์ และมีสุนัขอยู่ด้วย จึงใช้จุดนี้สร้างความสนิทสนม
2. Ms Hauser ประธานกรรมาธิการในที่ประชุม แอลล์เข้าถึงโดยการสังเกตเห็นแหวนสาวกเดลต้านู ผู้ชื่นชอบน้ำหอมกุหลาบเหลืองเหมือนเธอ จึงใช้จุดนี้สร้างความสนิทสนม
3.เพื่อนร่วมงานหญิงคนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจ และมักถูกกดดันจากเพื่อนร่วมงานอื่นในเรื่องนี้ แต่แอลล์เลือกที่จะทำจุดด้อยของเพื่อนร่วมงานคนนี้ให้เด่นให้ได้ ทำให้เขาประทับใจและยินดีเป็นเรี่ยวแรงช่วยเหลือเธอทุกอย่าง
4.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่หน้าประตู แอลล์ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญของบุคคลที่ต่ำต้อยกว่า และสิ่งๆ นี้เป็นความประทับใจที่ยามคนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นสิ่งที่คนในสถานที่นั้นมองข้าม เขาไม่เคยได้รับและนำไปสู่การรู้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์อีกหลายอย่างแก่แอลล์

ซึ่งจาก 4 ข้อข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับหลักทางจิตวิทยาการสื่อสาร จะตรงกับหลักของแบบจำลองของเบอร์โล และ แบบจำลองของแชนนันและวีเวอร์ โดยสรุปแก่นที่เหมือนกันได้ คือ

“ คนเรามักจะเลือกรับข้อมูลหรือสารที่สอดคล้อง ตรงกับความต้องการของตนเอง ตรงกับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงที่สุดของเขา ” นั่นหมายถึง ผู้ทำการสื่อสารที่ดี ควรเลือกที่จะส่งสาร หรือหาข้อมูลที่คาดว่าผู้รับสารจะสนใจ จะทำให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จ





นับได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ หากดูเบาๆ ก็ขำๆ ดี หากดูแบบเอาเรื่องก็ได้ให้อะไรพอสมควรนะ
หวังว่าคงได้สาระเล็กน้อยๆ กันไปบ้าง ใครมีความเห็นแลกเปลี่ยนที่ต่างออกไป มาคุยกันน๊า
_________________

วันเสาร์, ตุลาคม 22, 2548

เมื่อโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ....

เมื่อหลายวันก่อน…. เสียงโทรศัพท์มือถือของเราดังขึ้น..


-ฮัลโหล
*พี่ก้อยรึป่าวคะ
-ค่ะ ใครคะ
*สวัสดีค่ะ หนูโทรจากนิเทด จุฬา เป็นรุ่นน้องพี่ก้อยค่ะ อยากให้พี่ช่วยประชาสัมพันธ์จุฬาวิชาการให้หน่อยได้ไหมคะ คือ อยากได้แบนเนอร์ฟรีด้วยค่ะ งานจัด 23-37 นี้ค่ะ
- ( นึกในใจ อ่อ..ของฟรีนี่เอง อีกแล้ว T_T” )
* และอยากรบกวนพี่ก้อยให้มาช่วยงานด้วยค่ะ อาจารย์ ..... ฝากบอกว่าให้พี่มาช่วยงานปีนี้ เพราะน้องในภาคคนน้อยค่ะ .........
- ยังไม่แน่ใจค่ะว่าว่างแค่ไหน เพราะช่วงนี้พี่ก็ยุ่งๆ อยู่ bra bra bra ….








ยังไม่ทันคิดว่าจะว่างไปช่วยงานที่ภาควิชาแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ การโทรมาของน้องในครั้งนี้ ... ก็ทำให้เราคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ได้พอสมควรเลยทีเดียว


เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่เราต้องวุ่นเตรียมงาน กิน อยู่แทบจะค้างคณะร่วมเดือน ตอนนั้นจำได้ว่า มีทั้งความสนุก ความสุขปนความเหนื่อย( ชิบหาย ) แต่ท้ายที่สุด คือ ความภูมิใจเมื่อได้เห็นน้องมัธยมมาชื่นชมและได้ความรู้จากผลงานของเรานี่แหละ....



ภาควิชาของเราเป็นภาควิชาที่คนเลือกเรียนเอกน้อยที่สุด แต่มีการจัด display ต่างๆ มากที่สุด เกือบทุกปีที่มีจุฬาวิชาการ.....

ต้องขอบคุณน้องคนนี้ ที่ทำให้สมองเราคิดเรื่องอื่นอีกครั้ง... หลังจากมึนๆ ตึ๊บๆ คิดมากว่าจะสอบผ่านหรือสอบตกในวิชากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ที่ใหม่นี้ได้ไม่กี่วัน



เออ... ยังดีวะ


***********************************************


ตอนนี้เรารู้อะไรบ้าง... / เมื่อ 3 ปีที่แล้วตอนจัดงาน เรารู้อะไรบ้าง...
--- เป็นที่น่าอนาถจิตอย่างที่สุด เมื่อได้คำตอบจากตนเองว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กรูยังรู้ทฤษฏีทางวาทวิทยามากกว่าตอนนี้เลย

เห้อ
เหอะเหอะ

เอาน่ะ แต่ตอนนี้ก็มีความสุขนะ ที่ได้เรียนกฎหมายเพิ่มมากขึ้นอย่างที่อยากเรียน

ถัวกันได้ป่าวหว่า???

ไม่ๆๆๆ

ไอ้ที่เรียนมาแล้วก็ควรไม่หายเสียปล่าวไป


ว่าแล้ว...ก็
พยายามกลับไปขุดรายงานเก่าของตัวเองมาเรียบเรียงและพิมพ์ใหม่ เพื่อเป็นการระลึกถึงองค์ความรู้เดิมที่สติปัญญาของเรามันใกล้ดับสูญไป และเพื่อเป็นการระลึกถึงโอกาส “ จุฬาวิชาการ’ 48” ครั้งนี้ด้วย


วาทะที่นำมาวิเคราะห์เป็นวาทะของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา


วาทะของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523


ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลาย กระผมาวันนี้เพื่อรายงานข้อราชการและความในใจต่อท่านสมาชิกรัฐสภาที่เคารพทั้งหลายในฐานะที่รัฐสภาได้มอบหมายให้กระผมเป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารกิจการ้านเมือง รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรายงานการปฏิบัติหน้าที่ตลอดจนชี้แจ้งแถลงข้อสงสัยหรือข้อข้องใจใดๆ อันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานอันพึงมีต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาบันอันสูงส่งของผู้แทนปวงชนเจ้าของประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาในฐานะผุ้ควบคุมดูแล รัฐสภาอาจเรีบกรัฐบาลให้มาชี้แจ้งรายงานการปฏิบัติรายการได้ทุกเวลา




ดังนั้นเมื่อกระผมได้ทราบว่าท่านสมาชิกรับสภาผู้มีเกียรติที่เคารพทั้งหลายมีข้อสงสัยมีข้อข้องใจหรือข้อไม่พอใจการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ในการบริหารประเทศของรัฐบาล กระผมจึงได้มารายงานต่อเพื่อชี้แจ้งแถลงข้อเท็จจริงในวันนี้ ก่อนื่อนกระผมขอกราบเรียนท่านสมาชิกรัฐสภาที่เคารพทั้งหลายว่า กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงสุดในชีวิตที่ท่านสมาชิกรัฐสภาได้ให้ความไว้วางใจและมอบหมายให้กระผมแต่งตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ กระผมมีความสำนึกอยู่ตลอดเวลา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระผมและคณะรัฐมนตรีมีความจงรักภักดีและอุทิศจิตใจ ตลอดจนความรู้ความสามารถเพื่อรับใช้ชาติ ศาสนา และพระมาหากษัตริย์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้งในฐานะที่เป็นคนไทย เกิดบนผืนแผ่นดินไทย และมีชีวิตอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งมีญาติพี่น้องและมิตรสหายเป็นคนไทย






กระผมขอให้ความมั่นใจแก่สมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลายว่า กระผมมีความรักและมีความห่วงใยประเทศชาติ ประชาชนชาวไทยอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย เช่นเดียวกับกระผมมีความรับผิดชอบอยู่ทุกขณะ ตลอดเวลาที่มอบหมายภารกิจให้บริหารบ้านเมือง ที่จะสร้างสรรค์ให้ประเทศชาติบ้านเมืองของเรามีความสงบสุขและเจริญก้าวหน้าให้พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศได้มีชีวิตที่เป็นสุขยิ่งขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีหลักประกันในชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ กระผมได้กล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มเข้ารับตำแหน่งนายยกรัฐมนตรีแล้ว กระผมพร้อมที่จะทำงานให้ได้ผลดีที่สุด แก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยจะไม่ยอมให้วิถีทางการเมืองมาเป็นเครื่องกีดขวางเจตนารมณ์อันนี้ กระผมได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า กระผมจะรับใช้ประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ กระผมเองมีความมุ่งมั่นเช่นเดียวกับท่านที่รักประเทสชาติเหมือนกัน ที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน






นอกเหนือจากนี้ กระผมเองได้พยายามทุกวิถีทางในอันที่จะปกป้องประเทศของเราเอาไว้ให้พ้นจากการรุกรานจากต่างแดน ซึ่งทุกครั้งที่กระผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศทั่วโลกได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองด้านต่างประเทศขึ้น เมื่อปีที่แล้วกระผมก็ได้มีโอกาศไปเยี่ยมประเทศใน สแกนดิเนเวีย คือ สวีเดน กับ เดนมาร์ค ท่านนายกรัฐมนตรีของประเทศทั้งสองก็ได้พูดคุยย้ำกับกระผมว่า รัฐบาลของเขามีนโยบายเป็นกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีขัดแย้งในกลุ่มประเทศอินโดจีนด้วยกัน ในสหรัฐอเมริกาเอง ท่านประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้บอกกับกระผมถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลท่านที่จะให้ความสนับสนุนช่วยเหลือให้เมืองไทยได้มีความมั่นคงพ้นจากการรุกรานของประเทศอื่น ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ท่านประธานาธิบดีเบรซเนฟ ซึ่งท่านมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคความมิวนิสต์อยู่ด้วยก็ได้ให้ความมั่นใจแกี่กระผมที่จะสนับสนุนให้เมืองไทยอยู่อย่างสงบจากการรุกรานจากต่างชาติเช่นกัน เมื่อกระผมได้ไปเยี่ยมประเทศจีนเมื่อปีที่แล้วท่านประธานสภาจอมพลเย เจียน อิง ท่านนายรัฐมนตรี หัว โก๊ะ ฝง และท่านรองนายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ยืนยันเช่นกัน สำหรับประเทศเวียตนาม ท่านนายกรัฐมนตรี ฟาม วันก็ยืนยันกับกระผมเป็นส่วนตัวว่า รัฐบาลของท่านปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเป็นมิตรกับประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเขา นอกจากนั้นก็ได้รับการยืนยันจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีความเห็นอย่างเดียวกันที่ได้เห็นประเทศไทยเป็นประเทศอิสระ เพื่อจรรโลงสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ประเทศในแถบนี้





กระผมได้กล่าวมาแล้วตลอดเวลาว่า ปรารถนาที่จะให้ประเทศเรารักษาความเป็นกลางอย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยสร้างมิตรภาพกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา กระผมขอย้ำว่าในเรื่องนี้ รัฐบาลได้รับการสนับสนุนและไว้วางใจจากนานาชาติอย่างพร้อมเพรียงกัน กระผมได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยมีความเป็นกลางนี้ตลอดมา โดยหวังความสนับสนุนจากพี่น้องคนไทยทุกคน สถานการณ์ภายในประเทศระยะเริ่มแรกก็เป็นไปด้วยความขุ่นข้องหมองใจและขัดแย้งกัน ไม่ยอมหันหน้ามาเข้าหาประนีประนอมกัน สภาพการณ์เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติทั้งสิ้น รัฐบาลก็ได้พยายามชักจูงสร้างบรรยากาศและความเข้าใจ ความสามัคคีปรองดองและความให้อภัยให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ ได้สร้างฐานการเมืองและการปกครองที่มีเหตุผลเปิดเผยอันเป็นลักษณะจำเป็นของระบอบประชาธิปไตย และได้นำบ้านเมืองให้ผ่านพ้นอาณาจักรแห่งความกลัวให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและอภัยต่อกัน กระผมมีความเห็นว่าบ้านเมืองเราได้เริ่มเข้ารูปเข้ารอยพร้อมทั้งเริ่มต้นเร่งพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆกันต่อไปแล้ว






ในเรื่องภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของประชาชนนั้น กระผมขอเรียนว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตลอดเวลา อีกทั้งได้พยายามใช้มาตรการทุกอย่างที่จะช่วยขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนเหล่านั้นให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่างไรก็ตาม กระผมใคร่ขอเรียนว่า ภาวะเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกระเทือนเป็นลูกโว่กันทั่วทั้งโลก เหตุการณ์หรือสภาวะผันแปรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งส่วนใดของโลกย่อมส่งผลกระทบกระเทือนไปยังประเทศต่างๆ ในโลกด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มากก็น้อย ยิ่งประเทศไทยเรา นอกจากเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งต้องขึ้นกับความเมตตาของสภาพดินฟ้าอากาศ อันไม่อาจควบคุมได้แล้ว ยังต้องขึ้นกับอำนาจต่อรองประเทศอื่นๆอีกด้วย ยิ่งทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของเราหวั่นไหวได้มากขึ้น






ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติคงจะพอจำกันได้ว่า ในระยะแรกที่กระผมเข้ารับหน้าที่นั้น ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเริ่มปั่นป่วน เกิดทั้งภาวะเงินฟุ้งและและเงินฟุบพร้อมๆกัน อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันก็ได้เริ่มสร้างพลังต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยการขึ้นราคาน้ำมันดิบระลอกแล้วระลอกเล่า จนเกิดวิกฤติการณ์อิหร่านเข้าอีก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกและของเราปั่นป่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลก็ได้พยายามประคับประคองภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพของเราให้ทรงตัวอยู่ได้ดีพอควร ซึ่งถ้าจะคำนึงถึงภาวะฝนแล้งตลอดปีแรกที่กระผมเข้ารับหน้าที่และอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสแก่ประชาชนเกือบทั้งประเทศ โดยรัฐบาลได้นำมาตรการต่างๆ ทุกวิถีทางมาช่วยบรรเทาควาทเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ผ่านพ้นความวิปโยคไปได้แล้ว รัฐบาลก็รู้สึกโล่งใจในภาวะอันหนักอึ้งนี้เป็นอันมากไปอีกครั้งหนึ่ง






รัฐบาลได้พยายามจนสุดความสามารถที่จะชะลอและตรึงราคาไฟฟ้าและน้ำประปาไว้จนไม่อาจฝืนต่อภาวะกดดันและจำเป็นต่อไปอีกได้ จึงต้องขึ้นราคาไฟฟ้าและน้ำประปาไป เพราะรัฐบาลไม่มีเงินทุนที่จะนำมาจ่ายชดเชยต่อไปได้แล้ว อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และยังทำให้การพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความเจริญให้แก่ชาวชนบทต้องหยุดชะงักไปด้วย ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่รัฐสภาได้เห็นชอบแล้ว กระผมเชื่ออย่างเหลือเกินว่าท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติทั้งหลายคงจะไม่คัดค้านในนโยบายช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและชาวชนบทในเขตของท่านอย่างแน่นอน






ความจริงแล้ว หากรัฐบาลจะเห็นแก่ความสะดวกและสบายและไม่มีความรับผิดชอบแล้สเพียงแต่ผลักภาวะให้พอพ้นหน้าโดยไม่ต้องปรับราคาอะไร รัฐบาลก็คงสบายเอาตัวรอดได้ ส่วนผลเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติและประชาชนในอนาคตอันไม่ไกลนัก ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลที่ตะมารับภาระในภาบหลังที่จะหาทางแก้กีนเอง ก็ย่อมทำได้ ดังนั้นการที่รัฐบาลนี้เลือกตัดสินใจในการที่จะแบกรับภาระเอาไว้เองก็เพราะว่าหวังที่จะให้เกิดผลดีในระยะยาวแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ในปัญหาเรื่องการปรับราคาน้ำมันก็เช่นเดียวกันรัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า โดยเหตุโดยผลแล้วไม่มีทางเลือกที่จะดีกว่า จึงจำเป็นที่จะต้องปรับราคาขึ้นไปให้สอดคล้องกับความจำเป็นของตลาดโลก เพราะรัฐบาลได้คำนึงถึงความจำเป็นและความเป็นไปได้เป็นสำคัญ หากราคาน้ำมันในประเทศต่ำกว่าราคาน้ำมันในต่างประเทศแล้วหรือต่ำกว่ามากแล้ว เราจะไม่มีน้ำมันใช้จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากเรายังต้องการระบบตลาดเสรีเช่นนี้อยู่ เราต้องยอมรับหลักอุปสงค์และอุปทานและราคาด้วย






ในเรื่องผู้อพยพลี้ภัยก็เช่นกัน ก็ได้มีฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยอินโดจีนของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ทั้งที่เรื่องผู้อพยพลี้ภัยนี้เป็นเรื่องของเมตตาธรรมและมนุษยธรรม ซึ่งเราในฐานนะของพุทธศาสนิกชนอีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านควรจะพึงช่วยเหลือกันได้ นโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมยกย่องจากทั่วทุกประเทศทั่วโลก แต่ฝ่ายค้านกลับถือเป็นเรื่องเสียหาย กระผมขอยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้มิใช่เป็นสิ่งที่นำความเสียหายมาสู่ประเทศอย่างใดเลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าพิจารณากันให้ถ่องแท้และลึกซึ้งแล้ว มันจะทำคุณประโยขน์ให้แก่ชาวโลกและชาวไทยเองอย่างหาค่าเปรียบมิได้





ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ กระผมได้สดับตรับฟังท่านสมาชิกฝ่ายค้านผู้มีเกียรติได้กล่าวโจมตีกระผมทั่งที่ปรากฎในสภาฯ และสื่อมวลชนและที่อื่นมานานแล้ว กระผมจะสรุปได้ว่าท่านสมาชิกฝ่ายค้านพากันมุ่งมั่นแต่เพียงอย่างเดียวคือ เพื่อจะล้มล้างรัฐบาลหรือเพียงที่จะหารัฐบาลใหม่มาแทนรัฐบาลของกระผมเท่านั้น กระผมเองยอมรับภารกิจการกระทำซึ่งถูกต้องตามครรลองของประชาธิปไตยของท่านทั้งหลาย ท่านสมาชิกฝ่ายค้านย่อมมีสิทธิที่จะออกเสียงร่วมกันล้มล้างรัฐบาลและนายกฯได้ และกระผมได้ขอเสนอความคิดอย่างจริงใจว่าประชาธิปไตยนั้นเกินกว้างกว่าเหตุผลที่ท่านสมาชิกฝ่านค้านทั้งหลายมุ่งมั่นกันแต่เพียงจะล้มล้างรัฐบาลเท่านั้น เพราะประชาธิปไตยนอกจากมีความหมายในการปกครองโดยประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว ยังหมายถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างมาก อย่างไรก็ตามตั้งแต่กระผมเฝ้าติดตามการโจมตีของท่านฝ่ายค้านมาโดยตลอด ยังไม่ได้ยินข้อความแม้แต่ประโยคเดียวที่จะแจ้งให้ประชาชนทราบว่าท่านจะทำอะไรให้กับประชาชนหลังจากล้มล้างรัฐบาลแล้ว






ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ กระผมมีความเห็นโดยสัตย์จริงว่า การรณรงค์ของพรรคฝ่ายค้านเพื่อรวมโจมตีรัฐบาลนี้นั้นเป็นการกระทำที่อ่อนเหตุผล กระผมมีความเชื่อว่าเวทีการเมืองนั้นมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะใช้เป็นที่รองรับความใฝ่ฝันทะเยอทะยานเป็นส่วนตัวของนัการเมือง กระผมขอย้ำว่าประเทศเราในขณะนี้กำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติการณ์หลายด้าน และกำลังต้องการอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความสามัคคีร่วมใจกันทุกๆฝ่าย ในการแก้ปัญหาร่วมกัน มิใช่ให้เกิดการแตกแยกแย่งอำนาจกัน สิ่งที่ประเทศเราต้องการอย่างยิ่งในเวลานี้ ขณะนี้ก็คือ เสถียรภาพในทางการเมือง ทางฝ่ายพรรคการเมืองได้พยายามอย่างยิ่งที่จะช่วยกันสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าการเมืองในประเทศเรามีวิกฤติการณ์อย่างหนัก และต่างก็ได้ร่วมกันมุ่งมั่นที่จะโค่นล้มรัฐบาลและตัวกระผมเอง ในขณะนี้กระผมของกล่าวจริงใจว่า กระผมและทุกคนในชาติสนใจและหวังเป็นอย่างสูงแต่เพียงให้ประเทศชาติอยู่รอดมีความมั่งคงต่อไปในอนาคตเท่านั้น ท่านประธานที่เคารพ กระผมวิงวอนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจงมีความรอบคอบสุขุมในการรณรงค์ครั้งนี้ อย่างกระทำการใดๆโดยขาดความยั้งคิดในระยะที่นานาชาติกำลังมีวิกฤติการณ์ทางการเมืองอยู่ทั่วไปในโลก โดยเฉพาะในระยะนี้ซึ่งมีความตึงเครียดหลังจากเหตุการณ์ในอัฟกานิสถาน ในอิหร่าน ตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ก็กำลังมีวิกฤติการณ์ของตัวเองเช่นกัน วิกฤติการณ์ความตึงเครียดนี้ยังได้เกิดขึ้นในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตามชายแดนของเราอีกด้วย กระผมขอย้ำว่าประเทศเราในขณะนี้กำลังต้องการความร่วมมือร่วมใจกันอย่างมากที่สุด กระผมได้มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะรักษาสถานการณ์ภายในประเทศให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นได้ กระผมจะไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายถึงขั้นก่อให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้นในประเทศเราเป็นอันขาด กระผมขอยืนยันให้ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติได้ทราบอีกครั้งถึงความตั้งใจจริงของกระผมที่จะรักษาประเทศชาติของเราให้อยู่รอดได้ด้วยชีวิตกระผมขอร้องให้ท่านร่วมกันรับผิดชอบในความเป็นอยู่รอดของประเทศชาติด้วยเช่นกัน ขอให้ตระหนักถึงอันตรายจากสถานการณ์วิกฤติการณ์รอบๆบ้านเราอยู่ในขณะนี้ กระผมขอวิงวอนด้วยใจจริงให้ท่านร่วมกันคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติเหนือสิ่งอื่นใด และอย่าได้พยายามสร้างความวุ่นวายให้ประเทศเราเลวร้ายจนแก้ไขไม่ได้ไปกว่านี้แล้วจะเสียใจ ในการแถลงต่อสภาฯในวันนี้กระผมได้เลือกพูดถึงปัญหาต่างประเทศก่อน เพราะกระผมเห็นความสำคัญและจำเป็นว่าประเทศเราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ความจริงแล้วประเทสเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบสหประชาชาติซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การที่เราต้องกระทบปัญหายุ่งยากจากปัญหาตกต่ำของเศรษฐกิจที่มาจากนอกประเทศของเราและปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากท่านสมาชิกทั้งหลายอีก ทั้งมิใช่เรื่องที่ทำให้แล้วเสร็จโดยเห็นผลกันในวันในพรุ่ง โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจและการเมืองของโลกได้ผันแปรไปเช่นนี้ กระผมขอกล่าวด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า กระผมไม่ขอร้องให้ท่านมาสนับสนุนรัฐบาลนี้และตัวกระผม แต่เหนือสิ่งอื่นใด กระผมของร้องให้ท่านคงร่วมมือร่วมใจในการสนับสนุนประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน ตลอดเวลาที่กระผมได้ทำหน้าที่แผ้วถางทางประชาธิปไตยให้ประชาชนและสังคม กระผมได้ขจัดขวากหนามใดๆ ที่ขัดขวางหนทางไปสู้ประชาธิปไตย ซึ่งกระผมมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จะเรียนให้ทราบว่ากระผมได้กระทำด้วยความสำนึกและมโนธรรมที่บริสุทธิ์ ไม่มีการเคลือบแฝงด้วยโลภะ โทสะ โมหะจริตใดๆ ทั้งสิ้น ผลที่ได้รับคืออะไร คือการถูกขับไล่ ท่านลองถามตัวท่านเองดูซิว่า ท่านต้องการอะไรในการกระทำครั้งนี้ คำตอบคือ ต้องการขับไล่รัฐบาลออกไปให้ได้จะด้วยเหตุผลอะไรก็ได้ขอให้ออกไปให้ได้ แล้วท่านจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อท่านได้อำนาจทางการเมืองมาแล้วท่านจะทำอย่างไร ความจริงในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา กระผมประสงค์จะให้มีการประสานความสามัคคีกันในชาติ เราจะมาแบ่งพรรคแบ่งพวกกันต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะเป็นโอกาสที่เหลือไม่มากนักที่จะร่วมมือกับจรรโลงประเทศชาติ จึงได้พยายามติดต่อทางตรงและทางอ้อมกับท่านหัวหน้าพรรคหลายพรรค แต่ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขต่างๆนานาปนะการก็ไม่สำเร็จ





กระผมจึงจำเป็นต้องขอพระบรมราชโองการจัดตั้งรัฐบาลไปตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมซึ่งก็คงไม่เป็นที่สบอารมณ์หลายท่าน อันอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการโจมตีเพื่อล้มรัฐบาลในครั้งนี้ด้วยก็ได้ การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นสิ่งดีและเชื่อว่าไม่เป็นสิ่งที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในชนบทก็ไม่สนจว่าใครจะมาบริหารประเทศขอให้ปากท้องอิ่มแล้วกัน แต่ความขัดแย้งก็ได้ก่อตัวทับทวีจนยากที่รัฐบาลจะบริหารงานของชาติให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นเพื่อรักษาเอาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภากระผมจึงได้ตัดสินใจ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่าเข้ามาบริหารประเทศรับใช้ประชาชนต่อไป


การวิเคราะห์โดยอิงหลักอริสโตเติล เน้นเหตุผลที่ผู้พูดนำมาเสนอ
( ขออนุญาต อธิบายหลักทฤษฎีคร่าวๆ เพื่อง่ายแก่การทำความเข้าใจก่อน)

*************************************************************************************
หลักของอริสโตเติล

เหตุผลที่ผู้พูดหยิบยกมาเสนอต่อผู้ฟัง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อริสโตเติลจัดว่าผู้พูดสามารถใช้เป็นวิธีการนึงในการโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ ภาษากรีกเรียกว่า Logos ในเรื่องเหตุผลนี้อริสโตเติล จำแนกไว้เป็นสองประเภท คือ เหตุผลที่มาจากตัวอย่าง (example) และเหตุผลที่มาจากเอนธีมีม(enthymemes)

อริสโตเติลกล่าวว่าตัวอย่างมีสองประเภท
ประเภทแรก ได้แก่ ตัวอย่างที่เป็นเรื่องจริงจากประวัติศาสตร์
ประเภทที่สองได้แก่ ตัวอย่างที่ผู้พูดแต่งขึ้น

สำหรับประเภทที่สองนี้อาจจะเป็นนิทานที่เป็นคติสอนใจ ชาดกนิทานอีสป เหล่านี้เป็นต้น ในการยกตัวอย่างนี้ ผู้พูดอาจจะยกตัวอย่างในเชิงเปรียบเทียบเช่น ในอดีต เหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์เคยเป็นเช่นนี้ ฉะนั้น เราต้องระวังอย่าให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดซ้ำขึ้นอีก อริสโตเติลตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้พูดควรจะใช้ตัวอย่างเมื่อไม่มีเอนธีมีมจะใช้ เพราะผู้ฟังจะเกิดความเชื่อก็ต่อเมื่อมีข้อพิสูจน์ แต่ถ้าผู้พูดใช้เอนนธีมีมการใช้ตัวอย่างควรจะตามหลังเอนธีมีม เพราะถ้าใช้ตัวอย่างขึ้นก่อน การโต้แย้งจะมาในรูปแลลอุปมาน (induction) ซึ่งไม่เหมาะสำหรับวาทศิลป์ ( ในทัศนะของอริสโตเติล) อริสสโตเติลคิดว่าเมื่อใช้ตัวอย่างตามหลักเอนธีมีม การอธิบายนี้ก็เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจแนวคิดของอริสโตเติลเท่านั้น


เอนธีมีมเป็นรูปแบบหนึ่งของการโต้แย้ง อริสโตเติลถือว่าเอนธีมีมเป็นรูปแบบที่ไม่สมบูรณ์ของซิลลอจิสซึม (syllogism) นั่นคือ รูปแบบของซิลลอจิสซึม ประกอบด้วยประโยคตรรกะ 3 ประโยค เป็นข้อเสนอ 2 ประโยค ข้อสรุป 1 ประโยค เอนธีมีมจะลดประโยค 1 ประโยคไว้ อาจจะเป็นข้อเสนอหรือข้อสรุปก็ได้ เช่น ซิลลอจิสซึมที่ว่า
มนุษย์ทุกคนต้องตาย (ข้อเสนอ)
มนัสเป็นมนุษย์คนหนึ่ง (ข้อเสนอ)
มนัสต้องตาย (ข้อสรุป)


ในรูปแบบของเอนธีมีม เราจะพูดได้สามอย่างคือ (1) มนัสเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มนัสต้องตาย หรือ (2) มนุษย์ทุกคนต้องตาย มนัสเป็นมนุษย์คนหนึ่ง หรือ (3) มนุษย์ทุกคนต้องตาย มนัสก็ต้องตาย หลักมีอยู่ว่าผู้พูดจะให้ผู้ฟังเป็นผู้เติมข้อความที่ละไว้ในใจของผู้ฟังนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการโน้มน้าวใจวิธีหนึ่ง เพราะผู้ฟังจะมีส่วนร่วมในคำในโต้แย้งจองผู้พูดโดยไม่รู้ตัว และข้อความที่เติมลงไปเป็นข้อความที่ผู้พูดได้ให้แนวทางไว้แล้วในสองประโยคตรรกะ


อริสโตเติลเขียนไว้ว่าเมื่อผู้พูดต้องการจะโนมน้าวใจ จะพูดยาวไม่ได้ ต้องพูดสั้นๆ เพราะมิฉะนั้นผู้ฟังจะตามไม่ทัน โดยเหตุที่อริสโตเติลถือว่าเอนธีมีมเป็นหัวใจของการโต้แย้งและการโน้มน้าวใจ อริสดตเติล จึงได้อธิบายและยกตัวอย่าวฃงในเรื่องนี้อย่างละเอียดโดยแยกเอนธีมีมไว้ 28 ชนิด (Cooper 1960: 154-158 ; Bitzer 1959 : 408 ตัวอย่างที่อริสโตเติลยกส่วนใหญ่เห็นจะเป็นตัวอย่างจากมหากาพย์เรื่อง Iliad และ Odyssey ของโฮเมอร์กวีเอกของกรีซ เอนธีมีมเหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ได้ในภาษาไทยโดยมีความสอดคล้องกับโครงสร้างและความหมายในภาษาไทยประมาณ 25 ชนิด คือ

1. สิ่งตรงกันข้าม (opposites) เช่น ถ้าบอกว่า สิ่งที่เป็นจริงกับ ก ย่อมเป็นจริงกับ ข เราต้องสรุปได้ว่า สิ่งตรงข้ามกับ ก ก็ย่อมไม่เป็นจริงกับ ข ถ้าหากไม่เป็นจริงดังนั้น เราสามารถล้ม Premise แรกได้ ถ้าหากเป็นจริง เราก็สนับสนุน Premise เดิมได้ เช่น

ตัวอย่าง การควบคุมตนเอง (ก) เป็นสิ่งดี (ข)
เพราะการหลงมัวเมา เป็นสิ่งชั่ว (ข)

ตัวอย่าง ถ้าสงครามเป็นสาเหตุของสิ่งชั่วร้ายปัจจุบันที่เราได้รับอยู่
สันติภาพคือสิ่งที่เราต้องการมาแก้ไขสภาพนี้

2. สิ่งสัมพันธ์กัน (correlative terms) “ถ้าหาก ก ให้การต้อนรับที่ดีต่อ ข” เราพูดว่า “ข ได้รับการต้อนรับที่ดีจาก ก” หรือถ้า “ก มีสิทธิ์ที่จะสั่ง ข” “ขก็ทำถูกต้องในการที่จะเชื่อฟัง ก” มีอีกกรณีหนึ่งที่จะแย้งได้ว่า “การที่ ข ได้รับผลเช่นที่ได้รับเป็นการสมควรแล้ว ถ้าแย้งแบบนี้อาจผิดเพราะจะต้องคิดว่า การที่ ข สมควรได้รับผลดังที่เกิดขึ้นกับตัวเราก็มิได้หมายความว่า ข ควรจะได้รับผลนั้นจาก ก เพราะฉะนั้น ถ้าจะโต้แบบนี้จะต้องดูว่า
1. ข สมควรได้รับผลดังที่เป้นอยู่หรือไม่
2. ก ควรเป็นผู้ที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นหรือไม่

3. มากหรือน้อย ( more or less) เราโต้ในแง่ที่ว่า ถ้าเราไม่สามารถพบสิ่งหนึ่งในที่ที่มีแนวโน้มว่าควรจะมีที่สุดแล้ว เราย่อมไม่สารมารถพบมันในที่ที่มีแนวโน้มน้อยยิ่งขึ้นไปอีก เช่น แม้แต่เทวดายังไม่หยั่งรู้ดินฟ้า เราซึ่งคนธรรมดาสามัญจะรู้ได้อย่างไร หรือสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง หรือ ถ้าท่านเห็นว่าเป็นการสำคัญที่จะรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยของท่าน ภารกิจที่จะรักษาชื่อเสียงของประเทศของท่านก็ย่อมสำคัญมากยิ่งขึ้น

4. เงื่อนไขตามกำหนดเวลา (considerations of times) เช่น ไอพีเครตีสพูดกับฮาร์ดมเดียสว่า ถ้าก่อนที่จะกระทำการนี้ ข้าพเจ้าได้ขอร้องท่านว่า ถ้าข้าพเจ้าทำสำเร็จข้าพเจ้าควรจะได้รูปปั้น ท่านก็จะให้รูปปั้นแก่ข้าพเจ้า และขณะนี้ผลงานก็ออกมาแล้ว ท่านจะปฏิเสธรูปปั้นต่อข้าพเจ้าท่านให้สัญญาแล้ว อย่าถอนคำมั่นสัญญาเหล่านั้น เมื่อทานได้เก็บเกี่ยวผลกำไรแล้ว

5. คำพูดของฝ่ายตรงข้ามย้อนโจมตีเขาเอง (opponent’s utterance turns against him) เช่น ไอพีเครตีส ตอบคำถามของอริสโตฟอนโดยถามว่า “ท่านจะทรยศต่อกองทัพเพื่อเก็นแก่เงินหรือไม่” อริสโตฟอน ตอบว่า “ไม่เด็ดขาด” ไอพีเครตีส ตอบว่า”ดีมาก ก็ขนาดท่าน อริสโตฟอน ท่านยังไม่ทำแล้วข้าพเจ้าไอพีเครตีสจะทำหรือ” การย้อนแบบนี้จะได้ผลในกรณีที่ผู้ฟังยอมรับว่าผู้พูดนั้นมีคุณสมบัติเหนือว่าอีกฝ่ายทุกประการ

6. คำจำกัดความ (definition) เช่น ซอเครตีสพูดว่า “สิ่งที่เป็นเทพคิออะไร ก็ต้องเป็นเทพเจ้าเองหรือมิฉะนั้นก็งานของเทพเจ้า ถ้าท่านเชื่อว่ามีงานของเทพเจ้า ท่านก็ต้องเชื่อในความมีอยู่ของเทพเจ้า” หรือเหตุผลของซอเครตีสในการไม่เยี่ยมสำนักของอาคิคอส คือ “ความละอายนั้นคืออาการที่ไม่สามารถตอบแทนผลประโยชน์ที่ได้รับกัยการที่ไม่สามารถจะแก้แค้นสิ่งชั่วร้ายได้” คือ ซอเครตีสจะให้คำจำกัดความก่อน และจากนั้นก็โยงจากคำจำกัดความนี้ไปได้ในเรื่องที่ต้องการจะพูด

7. การแบ่ง (Division) อริสโตเติลกล่าวว่า เราอาจจะโต้ว่า “ทุกคนทำผิดด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ก ข ค สำหรับกรณีของข้าพเจ้านั้น ข้อ ก และ ข ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่พูดอยู่ ส่วนข้อ ค นั้นทางฝ่ายอัยการก็มิได้กล่าวหาข้าพเจ้าในประเด็นนี้” เพราะฉะนั้นการกล่าวหาก็จะไม่มีน้ำหนักพอหรือตกไป

8. อุปมาน (induction) ได้แก่ การยกตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างแล้วนำมาทำข้อสรุปซึ่งอริสโตเติลถือว่าสำคัญในการโต้แย้งเช่นเดียวกับเอนธีมีม

9. ข้อยอมรับที่มีอยู่แล้ว (existent decisions) คือการโต้แย้งโดยอ้างไปถึงประเด็นที่ยอมรับโดยทุกคนไม่ว่าที่ใดเวลาใด หรือยอมรับโดยคนหมู่มาก หรือโดยคนดีหรือคนฉลาด หรือโดยเทพเจ้า หรือโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น อาจจะพูดว่า “พระพุทธองค์มิได้เคยตรัสเช่นนั้น” “อธิการบดีกล่าวว่านโยบายจะเป็นไปในแนวนี้”

10. จากส่วนไปสู่ทั้งหมด (from the parts to the whole) คือ ถ้าอะไรเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงกับส่วน ก็จะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงกับทั้งหมด

11. ผล (simple consequences : good and bad) อริสโตเติลบอกว่า สิ่งหนึ่งอาจจะใช้ผลทั้งดีและเลว เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะหยิบยกประเด็นหนึ่งใดมาพูดก็ได้ แล้วแต่ว่าจะโน้มน้าวใจให้เชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใด เช่น การศึกษานั้นทำให้ไม่มีคนชอบ (อิจฉา) (ผลเลว) แต่การศึกษานั้นก็ให้สติปัญญา (ผลดี)

12. ผลที่ไขว้กัน (crisscross consequences) ความแตกต่างระหว่างหัวข้อนี้กับข้างบนคือ ในหัวข้อข้างบน ประเด็นหนึ่งประเด็นให้ผลสองอย่างตรงกันข้ามกัน ในหัวข้อนี้ประเด็นตรงข้ามกันสองประเด็นให้ผลตรงข้ามกันสองอย่าง เช่น พระผู้หญิงองค์หนึ่งของกรีก ห้ามลูกชายมิให้เรียนการพูดในที่ชุมชน เพราะ “ถ้าเจ้าพูดอย่างซื้อสัตย์ มนุษย์ก็จะเกลียดเจ้า ถ้าเจ้าพูดอย่างไม่ซื่อสัตย์ เทพเจ้าก็จะเกลียดเจ้า” หรืออาจจะพูดได้ว่า ฎเราควรจะฝึกการพูดในที่ชุมชนเพราะ ถ้าเราพูดอย่างซื่อสัตย์เทพเจ้าก็จะรักเรา ถ้าเราพูดอย่างไม่ซื่อมนุษย์ก็จะรักเรา”

13. ความคิดภายในและการกระทำภายนอก (inward thoughts and outward show) ข้อโต้แย้งนี้มาจากความคิดว่า มนุษย์ทำท่าเห็นด้วยกับสิ่งหนึ่งภายนอก แต่ในใจก็มีอีกความคิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาโต้แย้ง ถ้าคู่ต่อสู้ชของเราทำท่าว่ามีศีลธรรมดี เราพูดถึงผลประโยชน์ (ที่ผู้ฟังคาดหวังไว้ภายในแต่ไม่กล้าพูด) ถ้าคู่ต่อสู้โต้ว่ามนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของตนเอง เราพูดถึงความยุติธรรมคุณธรรมความดีซึ่งผู้ฟังสนับสนุน

14. ผลที่ได้สัดส่วนกัน (proportional results) เช่นเมื่อลูกชายของไอพีเครตีสซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกบังคับให้ปฏิบัติงานชิ้นหนึ่งด้วยเหตุผลว่าเขาสูงเท่าผู้ใหญ่ แม้จะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม ไอพีเครตีสพูดว่า “ถ้าหากพวกม่านคิดว่าเด็กตัวใหญ่เป็นผู้ใหญ่แล้วแล้วละก็ท่านต้องคิดว่าผู้ใหญ่ตัวเล็กเป็นเด็กด้วย” หรืออีกตัวอย่าง คือที่โอเดดเดสถามว่า “ทหารรับจ้างของท่านสรรเสริญสตราแบคซ์และซารีครีมัสสำหรับการทำงานที่มีคุณค่า ท่านจะไม่เนรเทศทหารรรับจ้างของท่านซึ่งได้ทำสิ่งที่ไร้คุณค่าหรือเป็นโทษหรือ”

15. ผลที่เหมือนกันมาจากสิ่งที่เกิดก่อนที่เหมือนกัน (Identical Result : identical antecedents) เช่น เซโนเฟนีสกล่าวว่าถ้าเรายืนยันกำเนิดของเทพเจ้าก็บาปพอๆกับเรายืนยันจุดดับของเทพเจ้า ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องแสดงว่า มีอยู่ขณะหรึ่งที่เทพเจ้าไม่เป็นอยู่ (non-existent) การโต้แย้งแบบนี้จะต้องยึดมั่นกฎว่า ผลที่เกิดตามหลังสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นเกิดสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง

16. ทางเลือกที่เปลี่ยนไป (altered choices) คือ มนุษย์ไม่เลือกของอย่างเดียวกัน ถ้าทำการเลือกในเวลาต่างกัน แต่อาจจะกลับมาทางเลือกเสีย ตัวอย่างเช่น เมื่อเราถูกเนรเทศเราต่อสู้เพื่อที่จะกลับมา ขณะนี้เรากลับมาแล้ว จะเป็นการประหลาดมากถ้าเราจะเลือกเนรเทศ (ตัวเราทิ้งบ้านเมืองไป) แทนการต่อสู้ หมายความว่าในครั้งนี้พวกเขาควรเลือกที่จะปกป้องเมืองโดยการต่อสู้ ในครั้งก่อนไม่เลือกการต่อสู้แต่เลือกทิ้งบ้านเมือง (เนรเทศ)

17. มูลเหตุจูงใจ (attributed motives) ได้แก่ มูลเหตุจูงใจที่เป็นไปได้เป็นมูลเหตุจูงใจที่แท้จริง เช่น สวรรค์ได้ประทานความสมบูรณ์พูนสุขแก้มนุษย์มิใช่ว่า เพราะสวรรค์เมตตาปรานี แต่เพื่อที่ว่ามนุษย์จะได้มีความโศกเศร้าหนักยิ่งขึ้น (เมื่อขาดมัน) หรืออีกตัวอย่าง คือ ไดโอมี้ดเลือกโอดีสสัสเป็นเพื่อนมิใช่ว่าจะให้เกียรติติโอดัสสัส แต่เพื่อที่จะว่าให้โอดิสสัสแลดูต่ำต้อยกว่าเขา

18. สิ่งยวนใจและสิ่งยับยั้ง (incentives and deterrents) ข้อโต้แย้งนี้พิจารณาดูว่าสิ่งยวนใจและสิ่งยับยั้งอันใดเป็นเครื่องมือทำให้คนทำหรือไม่ทำสิ่งใด เป็นธรรมดาว่า เราจะมีเหตุจูงใจให้ทำสิ่งหนึ่งถ้าสิ่งนั้นเป็นไปได้ง่ายดายและเป็นประโยชน์ต่อเราหรือเพื่อน หรือเสียประโยชน์ต่อศัตรูของเรา อันนี้เป็นจริงแม้ว่าผลจากการกระทำจะเกิดผลเสียหายแก่เราแต่ถ้าเราได้ประโยชน์มากกว่าเราก็จะทำจากแนวคิดเช่นนี้ นักพูดในศาล (อัยการ จำเลย ทนายความ) ก็จะโต้ในทำนองกล่าวหาหรือแก้ตัวในศาลโดยใช้หลักสิ่งยวนใจและสิ่งยับยั้งใจ

19. สิ่งที่เกิดขึ้นที่ไม่น่าเชื่อ (incredible occurrences) การที่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อถูกเชื่อนั้นเป็นข้อพิสูจน์ว่ามันได้เกิดขึ้น และโดยเหตุที่มันไม่น่าเชื่อเมื่อมันเกิดขึ้น ผู้พูดแสดงให้เห็นว่ามันเป็นจริง เช่น แอนโครคลีสบอกกับสภาว่ากฏหมายของเราต้องการกกหมายที่จะแก้ไขมัน ผู้ฟังโห่ขึ้นเพราะเป็นเรื่องไร้สาระ แอนโครครีสจึงพูดว่า ปลายังต้องการเกลือเพื่อจะเก็บรักษามัน ถึงแม้มันจะมีชีวิตอยู่ในน้ำเค็มก็ตามที และแป้งมะกอกก็ต้องการน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นการแปลกประหลาดที่ว่าแหล่งน้ำมันมะกอกจะต้องการน้ำมันมะกอกเสียเอง อาจจะเทียบกับสุภาษิตภาษาไทยว่า หนามยอกหนามบ่ง

20. ความจริงที่ขัดแย้งกัน (Conflicting Facts) ข้อนี้ใช้สำหรับพิสูจน์ผิดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งให้ข้อมูลสถิติผิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ

21. การจัดการกับเรื่องอื้อฉาว (how to meet slander) หัวข้อนี้ก็เพียงแต่อธิบายว่า เหตุใดความจริงจึงถูกมองไปในทางที่ผิดกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว เช่น การที่ผู้ชายคนหนึ่งกอดผุ้หญิงอีกคนหนึ่งมิใช่หมายความว่าเป็นชู้รักเสมอไป ต้องมีการอธิบาย

22. จากเหตุถึงผล (from cause to effect) ไม่มีสิ่งใดสามารถเป็นอยู่หรือมีอยู่โดยไม่มีสาเหตุหรือต้นเหตุ เช่น มีควันต้องมีไฟ

23. ทางปฏิบัติ (course of action) หัวข้อนี้เหมาะสำหรับนักพูดที่พูดด้านนโยบายหรือพูดในศาล ให้ผู้แย้งลองคิดว่าทางปฏิบัติทางอื่นหรือไม่ที่ดีกว่าที่ผู้พุดได้กระทำไปแล้วหรือที่ผู้พูดกำลังเสนอ ถ้าทางเลือกที่ผู้แย้งหยิบยกขึ้นมาไม่ได้รับการเอ่ยถึงหรือปฏิบัติตาม แสดงว่าผู้พูดไม่ได้คิดจะกระทำหรือได้ปฏิบัติสิ่งนั้น เพราะจะไม่มีใครโง่พอที่จะเลือกวิธีการที่เลว แต่ให้ระวังว่า การโต้แย้งนี้อาจจะเป็นวิตรรกะ (fallacious) เพราะเราจะรู้ได้ว่าทางเลือกใดดีหรือไม่ดีก็ต่อเมื่อการกระทำสิ้นสุดลงแล้วก่อนหน้าเหตุการณ์นั้นสถานการณ์มักจะไม่ค่อยชัดเจน

24. การปฏิบัติเปรียบเทียบกัน (actions compared) เอนธีมีมนี้ใช้เมื่อการกระทำที่ตั้งใจไว้เกิดตรงข้ามกับที่ตนเคยปฏิบัติ ให้นำมาเปรียบเทียบกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อประชาชนชาวเมืองอีเลียถามเซโนเฟนีสว่า พวกเขาควรจะกระทำพิธีบวงสรวงบูชายัญต่อสิวโคเธียหรือไม่ และทำพิธีศพ (ซึ่งนางเคยเป็นมนุษย์ในนามว่าอิโน) คำแนะนำของเซโนเฟนีส คือ “ถ้าพวกเจ้าคิดว่านางเป็นเทพเจ้าก็อย่าทำพิธีศพและร้องเพลงสวดศพ ถ้าพวกเจ้าคิดว่านางเป็นมนุษย์อย่าทำพิธีบวงสรวงบูชายัญ”

25. ความผิดครั้งก่อนๆ (previous mistakes) วึ่งเราใช้เป็นพื้นฐานสำหรับกล่าวหาหรือปกป้อง เช่น โจทก์กล่าวหาว่ามีเดียฆ่าบุตรของหล่อน เพราะไม่เห็นบุตรของหล่อนปรากฎอยู่ที่ใด (มีเดียทำผิดที่ส่งลูกไปที่อื่นเสีย) อย่างไรก็ตาม หล่อนแก้ตัวว่า ถ้าหล่อนจะฆ่าแล้ว คนที่หล่อนจะฆ่าคือ เจสัน เพราะถ้าหล่อนสามารถกระทำฆาตกรรมอีกครั้งหนึ่งได้ก็จะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่จะไม่ฆ่าเจสัน





ในที่นี้ เบื้องต้นจะวิเคราะห์ถึง ในแง่ของผู้ฟัง

การวิเคราะห์ผู้ฟัง
ผู้ฟังเป้าหมายกลุ่มแรกของพลเอกเกรียงศักดิ์คงจะเป็นสมาชิกรัฐสภาดังเขาได้กล่าวปฏิสันถารแต่แรกสมาชิกเหล่านี้มีทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลผู้ฟังอีกกลุ่มก็คงจะได้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งรับทราบข่าวสารจากสื่อมวลชนในเวลาถัดมา จำนวนที่แน่นอนนั้นไม่สามารถประมาณได้ แต่เราสรุปได้กว้างๆว่า ผู้ฟังทั้งสองกลุ่มนี้มีความสนใจในเรื่องการเมือง การปกครองของไทย ในด้านความสัมพันธ์กับผู้พูด ความเป็นผู้นำทางบริหารประเทศอาจจะทำให้ผู้ฟังคาดหวังบางอย่างจากผู้พูด ผู้พูดอาจจะต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ มีพฤติกรรมการแสดงออกที่เป็นที่ยอมรับ วาระหรือโอกาสที่มีการพูดของพลเอกเกรียงศักดิ์ จัดได้ว่าเป็นวิกฤติ เพราะพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กำลังจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ( ในขณะนั้น ) บทวิเคราะห์บทนี้มุ่งจะชี้ให้เห็นความพยามยามของผู้พูดในการที่จะให้ผู้ฟังยอมรับการบริหารของตน โดยชี้แจ้งเหตุผลให้น่าเชื่อถือ และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ภายใต้สภาวะกดดันเพียงไร
เห็นได้จาก ....

( คราวหน้าค่อยมาต่อ ภาค 2 นะคะ )

วันอาทิตย์, ตุลาคม 09, 2548

กลับมาแว้ววว

หายไปนานเลยเรา

บลอคยังใช้ได้อยู่ไหมนะ

ทดสอบๆๆ

ด้วยอำนาจแห่งความงาม ( ของใครวะ )
ขอให้ข้อความนี้จงปรากฏแก่ผู้ชมทุกท่านเถิดดด


เพี้ยง