*STYLE TYPE="text/css"> p {align=justify} BODY{cursor: url(http://ourworld.cs.com/dollielove6/uc4.cur);} a {cursor: url(http://ourworld.cs.com/dollielove6/uc4.cur);} */STYLE> Bakery Idea From me :): รวบของเก่ามารวมในบลอค

Bakery Idea From me :)

วันพุธ, ตุลาคม 26, 2548

รวบของเก่ามารวมในบลอค

ทั้งๆ ที่ เป็นที่เห็นกันอยู่ว่าหัวข้อข้างล่างก็ยังไม่เสร็จดี

แต่ด้วยอารมณ์ใดมิทราบได้... ( นิสัยเสียนั่นเอง ) วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมา ดุ๊นเกิดอยากรวบรวมบรรดาคำบ่นทั้งหลายที่เคยเขียนลงเวบบอร์ดต่างๆ
( แหม ทำยังกะเขียนไว้เยอะสะงั้นอ่ะ ) นำมาแปะๆ ลงในนี้ดีกว่า เพราะว่าก็นึกเสียดายอยู่
ไหนๆ.. มันก็เคยออกมาจากความคิดเรา เวลาว่างมานั่งอ่านก็เพลินไปอีกแบบ

เอาหนังเบาๆ มาวิเคราะห์ให้ลองอ่านดูนะคะ สำหรับการวิเคราะห์จะขอท้าวความถึงภาพแรกก่อนพอสังเขปเพื่อความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ในบางช่วงของหนังอาจมีการลงทฤษฏีบ้างตามหลักนิเทด ยังไงก็..อ่านแบบขำ ขำ ละกันนะ
*****************************************************************************



ข้อมูลภาพยนตร์ : Legally Blonde
ชื่อไทย : สาวบลอนด์ หัวใจดี๊ด๊า
เรทภาพยนตร์ : PG-13
ความยาว : 96 นาที
ประเภท : comedy
กำกับโดย : Robert Luketic
บท : Amanda Brown / Karen McCullah Lutz / Kirsten Smith
นำแสดงโดย: Reese Wintherspoon / Luke Wilson / Selma Blair / Matthew Davis / Victor Garber
จัดจำหน่าย : ทเวนตี เซนจูรี่ ฟอกซ์ USA

เนื้อเรื่องโดยย่อ Legally Blonde ( 1 )
แอลล์ วู้ดส์ หญิงสาวผู้มีสีผมบลอนด์เป็นธรรมชาติเป็นลักษณะตัวที่โดดเด่น เป็นเจ้าของตำแหน่งประธานชมรมผุ้หญิง มิสฮาวายเอี้ยน มิสจูน นักเรียนดีเด่นของมหาวิทยาลัย UCLA และเป็นผุ้คลั่นใคล้สีชมพูเป็นชีวิตจิตใจ แอลล์เป็นสาวมากความมั่นใจและเกาะติดแฟชั่น แต่เธอต้องพบกับความผิดหวังเมื่อแฟนหนุ่ม วอเนอร์บอกปฏิเสธ โดยให้เหตผลว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงที่คู่ควรพอแก่อาชีพนักการเมืองของเขาในอนาคต

ด้วยเหตนี้เอง ทำให้แอลล์ มุมานะเข้ามาเรียนที่ฮาร์วาร์ด ลอร์ สคูล ที่เดียวกับแฟนหนุ่มโดยหวังให้เขาหันมาเห็นค่าและกลับมาเหมือนเดิม แอลล์ต้องพบกับความแตกต่างในการดำรงชีวิต รวมถึงถูกดูแคลนจากคนรอบข้างในเรื่องของการเรียน ในที่สุดเธอก็สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ด้วยการเป็นนักเรียนดีเด่นของชั้น ได้รับเลือกเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สำนักงานทนายความยักษ์ใหญ่ซึ่งใครๆ ก็ปรารถนา และสามารถเอาชนะคดีประวัติศาสตร์ได้ด้วยความสามารถของเธอเอง วอเนอร์เริ่มกลับมาขอคืนดีแต่แอลล์ก็พบแล้วว่ามีใครบางคนคุ่ควรกับเธอมากกว่าชายคนนี้ เขาเป็นนักศึกษารุ่นพี่ผู้ซึ่งเป็นกำลังใจและมีศรัทธาในตัวเธอตลอดมา

---------------------------------------------------------------------


ข้อมูลภาพยนตร์ : Legally Blonde (2)
ชื่อไทย : สาวบลอนด์ หัวใจดี๊ด๊า (2)
เรทภาพยนตร์ : PG-13
ความยาว : 95 นาที
ประเภท : comedy
กำกับโดย : Charles Herman-Wurmfeld
บท : Amanda Brown / Eve Ahlert / Dennis Drake / Kate Kondell
นำแสดงโดย: Reese Wintherspoon / Luke Wilson / Sall Field / Regina King / Jennifer Coolidge / Bruce Mcgill / Dana Lvey
จัดจำหน่าย : ทเวนตี เซนจูรี่ ฟอกซ์ USA

เนื้อเรื่องโดยย่อ Legally Blonde ( 2 )
หลังจากจบฮาร์วาร์ด สคูล มาได้ แอลล์ plan การแต่งงานไว้เรียบร้อยแล้วแต่ แอลเกิดไอเดียอยากให้ครอบครัวของบรุยเซอร์ สุนัขแสนรักได้มาร่วมในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วย จึงเริ่มจ้างนักสืบตามหาแม่ของสุนัขเธอว่าอยุ่ที่ไหน เมื่อรุ้ว่าแม่ของบรุยเซอร์ถูกขังไว้เพื่อใช้ทดลองในห้องวิทยาศาสตร์ของบริษัทผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์หนึ่ง เธอจึงลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านี้ แต่ผลของการต่อสู้คือการถูกไล่ออกจากงาน แต่แอลก็ยังเดินหน้าที่จะต่อสู้ต่อไป เมื่อพบว่าทางเดียวที่จะช่วยเหลือสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านี้ได้ คือการเสนอร่างอนุมัติกฎหมาย แอลล์จึงทุ่มเวลาและศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะช่วยสัตว์เลี้ยง แต่แอลล์ก็ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำสบประมาทจากเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่การเข้าถึงบุคคลสำคัญผุ้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการอนุมัติกฏหมายที่แสนจะยากเย็น

กระนั้น แอลล์ก็ใช้ความถนัดส่วนตัว ความมีน้ำใจ และช่างสังเกตุ ทำให้เกิดประโยชน์ในงานของเธอได้ ในที่สุดร่างกฎหมายเพื่อสัตว์ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นผลสำเร็จ


ลักษณะของภาพยนตร์เรื่องนี้ ( วิเคราะห์ในแนวรวมทั้ง 2 ภาค) เป็นหนังแนวตลก เน้นกลุ่ม target audience วัยรุ่น(โดยเฉพาะผู้หญิง) อายุระหว่าง 18-25 ปี สิ่งที่สังเกตได้ว่าเป็นภาพยนตร์เน้นกลุ่มไปทางเพศหญิง ด้วยลักษณะ 3 ประการดังนี้


1. ดารานำ (แอลล์) บทที่เขียนจะสังเกตได้ว่าดารานำฝ่ายหญิงเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักทั้งหมด

2. วิถีชีวิต (Life style) ของนักแสดงนำเป็นไปตามวิถีของวัยรุ่นปัจจุบัน หากวิเคราะห์ตามสังคมเมือง ( เมื่อเปรียบเทียบความสอดคล้องของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ) จะได้คร่าวๆ ดังนี้ คือ

2.1 เป็นวัยรุ่นที่เกาะติดแฟชั่น แต่งตัว อ่านหนังสือบันเทิง เช่น Cosmo และอาจมีแบรนด์หรือวงดนตรีที่คลั่งใคล้ จนรวมกลุ่มกันเป็นแฟนคลับ
2.2 เป็นวัยที่ให้ความสนใจในเรื่องของความรัก
2.3 มีการแข่งขันกันในด้านการเรียน ให้ความสนใจกับมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศจนกลายเป็นค่านิยม
2.4 อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ


3. สีชมพูที่ถูกเลือกใช้เป็นสีของตัวแสดงนำในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ รถ เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสีตัวแทนของความเป็นผู้หญิง ความร่าเริงสดใส

4. เนื้อเรื่องโดยรวม เป็นเรื่องที่เริ่มต้นเกี่ยวกับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จนตัวละครเรียนจบและเริ่มประกอบอาชีพ


จุด contrast ของเรื่อง (ภาค 2)

1. ปมความขัดแย้งของตัวละครกับอาชีพ
โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่าเป็นประเด็นที่โดดเด่นที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากวิถีประชา ค่านิยมและการตีค่าของคนในสังคม (sterotype) มักมองว่าวงการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการ นักวิชาการกฎหมาย ทนาย ฯลฯ ที่น่าเชื่อถือ จะต้องแต่งกายสุภาพ สีที่นิยมมักเป็นสีเข้ม เรียบ ดูน่าเชื่อถือ รวมถึงบุคลิกภาพที่มีการวางตัวแบบทางการ สงวนท่าที แต่ตัวละคร

1.1 แอลล์ ในเรื่องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากนี้ทั้งหมด กล่าวคือ แต่งตัวด้วยสีสันฉูดฉาด บุคลิกร่าเริงคล่องแคล่ว (อุ้มหมาแสดงความอาโนเนะอีก 1 ตัว) และแสดงความเป็นกันเองอย่างจริงใจกับบุคคลทุกชนชั้นโดยไม่สงวนท่าที จะเห็นชัดได้จากภาค 2 ที่แอลล์ไปทักทายแลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูจนทำให้แอลล์ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงมามากมาย
1.2 Ms Hauser ประธานกรรมาธิการในที่ประชุม ในเรื่องแสดงให้เห็นถึงการสงวนท่าทีที่เคร่งขรึม และเข้าถึงจิตใจได้ยาก แต่ลึกๆ แล้วคลั่งใคล้น้ำหอมดอกกุหลาบเหลือง เธอเป็นสาวกเดลต้านูตัวยงเช่นเดียวกับแอลล์ โดยที่แอลล์สามารถสังเกตได้ถูกจุด ทำให้สามารถใช้ “ความเหมือน” จุดนี้เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย
1.3 สแตนฟอร์ด มาร์ท โฆษกอนุรักษ์นิยม โฆษกเอ็นอาร์เอ เมื่อสุนัขพันธุ์ลอคไวเลอร์ของเขากับเจ้าชิวาวาของแอลล์ผสมพันธุ์กันขณะอยู่ที่สปาสัตว์เลี้ยง จึงเป็นจุดความเหมือนในเรื่องของคนรักหมาให้แอลล์ได้ทำความรุ้จักสนิทสนม และมีโอกาสพูดเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น
_________________

จุด Climax ของเรื่อง (ภาค 2)
1. เป็นฉากที่แอลล์ ตัวนำของเรื่องผิดหวังกับระบบการเสนอร่างกฏหมาย ความเชื่อมั่นในเพื่อนแต่กลับถูกหักหลัง แอลล์พูดด้วยความผิดหวังกับรูปปั้น อับราฮัม ลินคอร์น ว่า “ ชั้นเชื่อมั่นในประเทศชาติ เชื่อมั่นในระบบ เชื่อมั่นในตนเอง ” แต่ในขณะเดียวกันผู้กำกับตั้งใจ fade ภาพและเสียงให้ตรงข้ามกับคำพูดของเด็กนักเรียนสวนเข้ามา ที่ท่องประโยคว่า “ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ” ซึ่งเป็นจุดให้ผู้ชมคิดเอาเองในลักษณะที่ว่า ภายใต้ระบบการเรียนการสอนที่ถูกท่องมาดังนั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้ามในความรู้สึกของนางเอกในเรื่อง

สัญลักษณ์ของเรื่อง
1. รูปปั้นอับราฮัม ลินคอร์น แสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำ ความเป็นคนธรรมดาก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีโดยที่ไม่มีสายเลือดนักการเมือง หรือลูกผุ้ดีมีเงิน แต่ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่อเมริกาได้มากมาย
2. ดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับแสงไป โดยมีตึกทำเนียบขาวบังเป็นเงาอยู่ ดวงอาทิตย์ในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ เข้าใจว่าจากเนื้อเรื่องต้องการสื่อให้หมายความถึง พลังที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์เปรียบได้กับเสียงของประชาชน แต่กำลังจะลาลับไปโดยมีสิ่งอื่นเข้ามาเบียดบัง
_________________


คติที่ได้จากเรื่อง
เมื่อเทียบภาพยนตร์นี้กับหลักทฤษฎีการสื่อสารทางวาทวิทยา อันหมายรวมถึง (อวจนภาษา วจนภาษา และจิตวิทยาระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร) แล้ว สามารถนำมาพิเคราะห์ได้ ดังนี้

(ผู้เขียนขอกล่าวปูพื้นถึงหลักวาทศิลป์สักเล็กน้อยก่อน)
วาทศิลป์ที่มีหลักเกณฑ์ (System) ถึงกำเนิดขึ้นครั้งแรกพร้อมกับคอแรกซ์ (Corax) และทีเซียส (Tisias) ครูและลูกศิษย์ชาวซิซิเลียน ซึ่งเป็นผุ้เริ่มจัดกฎเกณฑ์ให้กับวาทศิลป์ ( เดิมวาทศิลป์เกิดขึ้นมานานแล้วแต่ยังไม่มีใครจัดเกณฑฺในการพูดแบบชัดเจน และหากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์สภาพการเมืองในสมัยนั้นเอื้อกับการใช้วาทศิลป์ด้วยซิซิลี (อิตาลีปัจจุบัน) ถูกปกครองด้วยทรราชย์อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อทรราชย์ถูกขับไล่ไป ซิซิลีก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย ผู้คนทั้งหลายที่ถูกทรราชย์รีบทรัพย์สมบัติไปต่างก็แสดงตนออกมาพูดขอสมบัติคืน เพราฉะนั้นการใช้วาทศิลป์จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก) คอแรกซ์ได้เริ่มสอนและจัดระบบวาทศิลป์จากการพูดในศาล และต่อมาสามารถประยุกต์ใช้กับการพูดทั่วไปตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วย โดยหลักสำคัญของวาทศิลป์ที่คอแรกซ์วางไว้ มี 3 อย่าง คือ
1. คอแรกซ์ได้ให้คำจำกัดความ Rhetoric วาทศิลป์ว่าเป็น ศิลปะแห่งการโน้มน้าวใจคน ดังนั้นหากมองจากคำจำกัดความนี้ วาทศิลป์จึงเป็นศาสตร์ที่มุ่งในทางปฏิบัติ (Pratical Art) คือมุ่งที่จะได้รับปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้ฟัง ปฏิกริยาดังกล่าวตรงกับจุดประสงค์ของผู้พูด
2. คอแรกซ์ เน้นการจัดระเบียบเรียบเรียงวาทะ โดยแบ่งวาทะเพื่อการโน้มน้าวใจออกเป็น 5 ส่วน คือ

2.1 บทนำ
2.2 ตัวเรื่อง
2.3 ข้อโต้แย้ง
2.4 จุดสังเกตย่อย (ข้อเท็จจริงที่เอาไว้เถียง)
2.5 บทปิดท้าย

3.คอแรกซ์แสดงให้เห็นว่า จะใช้หลักความเป็นไปได้ (Probability) ในการพูดโน้มน้าวใจอย่างไรให้เชื่อ
ขอยกตัวอย่างประกอบจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ( ในภาคแรก) จะเห็นได้ชัดจากฉากการซักพยานของแอลล์

- แอลล์เริ่มด้วยการใช้ข้อ 1 ข้างต้น แอลล์เริ่มว่าความตามที่เธอจดไว้ แล้วต่อด้วยการอารัมภบทให้คนสนใจฟังก่อน ( แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเธอไร้สาระ และเริ่มบทบาททนายแบบไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวสักเท่าไร แต่นั่นก็เป็นวิธีและเสน่ห์อย่างหนึ่งให้คนสนใจก่อนอันดับแรก) ต่อด้วยข้อ 2แอลล์เริ่มเข้าสู่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถามพยานคนสำคัญ ซึ่งคือลูกสาวของมหาเศรษฐีผู้ตาย (บทนำ) แล้วพาเข้าสู่จุดสนใจในเรื่องการทำผม การซักถามเรื่องผมว่าทำมานานหรือยังดัดมาตั้งแต่เมื่อไร ตอนที่เห็นพ่อตายอยู่ในสภาพไหน เห็นใครบ้าง ( ตัวเรื่อง) ต่อมาแอลล์เริ่มนำไปสู่การถามแบบแย้ง ว่าผมที่ดัดของหล่อนดัดมามากครั้งขนาดนั้น จะไม่รู้เลยหรืออย่างไรว่าต้องดูแลรักษาไม่ให้น้ำยาเสื่อมสภาพเช่นไร ในเมื่อพยานให้การว่าขณะพ่อถูกยิงกำลังสระผมอยู่ คนดัดผมมาใหม่ๆ จะไม่สระผมแน่ๆ ไม่งั้นน้ำยาเสื่อมสภาพ และดัดมาเป็นสิบๆ ปี จะไม่รู้กฎข้อนี้หรือ? ( ข้อโต้แย้ง) แอลล์เริ่มดึงเกมส์ให้จบด้วยการชี้ให้ทุกคนในศาลเห็นจุดสังเกตย่อย (ข้อเท็จจริง) ว่า ให้ดูที่ผมของหล่อนสิ ยังเป็นลอนมิได้เสียหายจากการสระผมแต่อย่างใด และไปที่บทปิดท้ายโดยการพูดสรุปว่า แสดงว่าหล่อนให้การเท็จ

จากตัวอย่างข้างต้น แอลล์ได้ใช้หลักความเป็นไปได้ตามหลักของคอแรกซ์เป้ะๆ โดยใช้ข้อมูลที่ตนเองรู้ดี ในเรื่องของแฟชั่นชักพาให้คนทั้งศาลเชื่อถือเธอได้ไม่ยาก


และเมื่อพิเคราะห์ถึงภาพยนตร์ ภาคที่ 2 ก็จะเห็นการใช้หลักการสื่อสารอีกเช่นกัน ขอยกตัวอย่างดังนี้

อริสโตเติล ได้ชื่อว่าเป็นบิดาทางวาทวิทยา โดยมีงานเขียนชิ้นสำคัญ คือ The Rhetoric of Aristotle
หนังสือ The Rhetoric ของอริสโตเติล ได้ให้คำจำกัดความของวาทศิลป์ว่า “ เป็นอำนาจที่จะค้นพบวิธีการต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อใช้ในการโน้วน้าวใจคนในแต่ละกรณี โดยเหตุที่วาทะมีจุดมุ่งหมายที่จะจูงใจคน เพราะฉะนั้นผู้พูดหรือผู้เขียนจะต้องรู้จักจิตใจ ความรู้สำนึกของคนที่เขาจะชักจูง นั้นหมายความว่าเขาจะต้องรู้จักธรรมชาติของมนุษย์ วิธีที่มนุษย์ใช้เหตุผล นิสัย ความต้องการ อารมณ์ จะต้องใช้ข้อโต้แย้งแบบไหนกับคนประเภทใด ”

ในที่นี้ จะเห็นได้ชัดจากเรื่องของหลักการเข้าถึงบุคคลต่างๆ ที่แอลล์ใช้ คือ


1.สแตนฟอร์ด มาร์ท แอลล์เข้าถึงด้วยการเรียนรู้ว่าเขารักสัตว์ และมีสุนัขอยู่ด้วย จึงใช้จุดนี้สร้างความสนิทสนม
2. Ms Hauser ประธานกรรมาธิการในที่ประชุม แอลล์เข้าถึงโดยการสังเกตเห็นแหวนสาวกเดลต้านู ผู้ชื่นชอบน้ำหอมกุหลาบเหลืองเหมือนเธอ จึงใช้จุดนี้สร้างความสนิทสนม
3.เพื่อนร่วมงานหญิงคนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจ และมักถูกกดดันจากเพื่อนร่วมงานอื่นในเรื่องนี้ แต่แอลล์เลือกที่จะทำจุดด้อยของเพื่อนร่วมงานคนนี้ให้เด่นให้ได้ ทำให้เขาประทับใจและยินดีเป็นเรี่ยวแรงช่วยเหลือเธอทุกอย่าง
4.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่หน้าประตู แอลล์ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญของบุคคลที่ต่ำต้อยกว่า และสิ่งๆ นี้เป็นความประทับใจที่ยามคนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นสิ่งที่คนในสถานที่นั้นมองข้าม เขาไม่เคยได้รับและนำไปสู่การรู้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์อีกหลายอย่างแก่แอลล์

ซึ่งจาก 4 ข้อข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับหลักทางจิตวิทยาการสื่อสาร จะตรงกับหลักของแบบจำลองของเบอร์โล และ แบบจำลองของแชนนันและวีเวอร์ โดยสรุปแก่นที่เหมือนกันได้ คือ

“ คนเรามักจะเลือกรับข้อมูลหรือสารที่สอดคล้อง ตรงกับความต้องการของตนเอง ตรงกับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงที่สุดของเขา ” นั่นหมายถึง ผู้ทำการสื่อสารที่ดี ควรเลือกที่จะส่งสาร หรือหาข้อมูลที่คาดว่าผู้รับสารจะสนใจ จะทำให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จ





นับได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ หากดูเบาๆ ก็ขำๆ ดี หากดูแบบเอาเรื่องก็ได้ให้อะไรพอสมควรนะ
หวังว่าคงได้สาระเล็กน้อยๆ กันไปบ้าง ใครมีความเห็นแลกเปลี่ยนที่ต่างออกไป มาคุยกันน๊า
_________________